สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

สับปะรดภูแล ความบังเอิญที่พอดี ด้วยฝีมือธรรมชาติ

ในปัจจุบันสับปะรดภูแล ได้ชื่อว่าเป็นสับปะรดที่มีคนนิยมกินมากเป็นอันดับต้น ๆ เมื่อเทียบกับบรรดาสับปะรดสายพันธุ์อื่น ๆ ที่เหลืออีกกว่า 10 สายพันธุ์ ซึ่งสาเหตุก็เป็นเพราะคนกินส่วนใหญ่ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ภูแล เป็นพันธุ์สับปะรดที่มีเนื้อแห้งกรอบอร่อย ทานได้หมดทั้งแกน กลิ่นหอม หวานพอดี ไม่มีรสเปรี้ยวและไม่กัดปาก นอกจากนี้ผลยังมีขนาดเล็ก เมื่อปอกเปลือกตกแต่งแล้วทำให้ดูสวยงามน่ากินยิ่งขึ้น ซึ่งจุดนี้เป็นหน้าที่ของคนขาย ที่จะต้องตกแต่งผลสดเพื่อให้ลูกค้าพร้อมทานได้ทันที ซึ่งลูกค้าจะชื่นชอบมาก ถึงแม้จะทำให้ยุ่งยากเสียเวลา แต่ก็เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า และทำให้พ่อค้าแม่ค้าต่างพร้อมใจกันขายในราคาที่มีกำไรดีกว่าปกติ ซึ่งคงไม่มีใครอยากขายถูกๆ เพราะมันไม่คุ้มค่าเหนื่อย ค่าเสียเวลาตกแต่ง จากเหตุผลเหล่านี้ สับปะรดภูแล จึงเป็นที่นิยมทั้งจากผู้ซื้อและจากผู้ขายเพราะได้กำไรงาม รวมถึงเพื่อนๆ เกษตรกรผู้ปลูกด้วย เพราะราคาผลผลิตค่อนข้างดีตามความนิยม

แต่สำหรับเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดพันธุ์อื่นๆ คงรู้สึกเสียดาย ที่ไม่สามารถปลูกสับปะรดภูแลได้ เพราะ “สับปะรดภูแล” ไม่ใช่สายพันธุ์สับปะรดที่ถูกมนุษย์พัฒนาสายพันธุ์ขึ้นมาเพื่อให้ปลูกที่ไหนก็ได้ แต่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นความบังเอิญที่พอดีของธรรมชาติ เพราะคำว่า “ภูแล” ถูกตั้งให้เป็นชื่อเฉพาะของสับปะรดสายพันธุ์ภูเก็ตที่มีผู้นำมาปลูกไว้ในตำบลนางแล อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย พูดง่ายๆ ว่า นำสับปะรดสายพันธุ์ภาคใต้มาปลูกในภาคเหนือ ซึ่งทั้งสองภูมิภาคนี้ มีสภาพแวดล้อม ดิน ฟ้า อากาศที่แตกต่างกันมากต้นสับปะรดจึงเกิดการปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดกับสภาพแวดล้อมใหม่ จากสับปะรดภูเก็ตผลใหญ่ ก็กลายเป็นสับปะรดผลเล็กๆเท่ากำมือ แต่บังเอิญว่าผลเล็กๆ ที่เกิดมาใหม่นี้ มีคุณสมบัติเฉพาะตัวด้านอื่นที่ดี จึงได้ตั้งชื่อเฉพาะให้ โดยนำแหล่งที่มาของ 2 พันธุ์มารวมกัน โดยคำว่า ”ภู”มาจากภูเก็ต ส่วนคำว่า “แล” มาจากตำบลนางแล จนรวมเป็นชื่อ ภูแล ในที่สุด

ปัจจุบันได้มีการขึ้นทะเบียนกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาให้ สับปะรดภูแล เป็นพันธุ์พืชที่เป็น “สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์” ได้รับตราสัญลักษณ์ GI สร้างมูลค่าเพิ่มให้เป็นสินค้าหนึ่งเดียวในโลก หากลูกค้าจากต่างประเทศต้องการสับปะรดภูแลของแท้จะต้องมาจากตำบลนางแล จังหวัดเชียงราย เท่านั้น ซึ่งจะทำให้ใครจะเอาชื่อ”ภูแล” ไปใช้กับสับปะรดสายพันธุ์เดียวกัน แต่ปลูกนอกเขตพื้นที่ที่ขึ้นทะเบียนเอาไว้ไม่ได้ ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็ได้มี เพื่อนๆ เกษตรกรนำสับปะรดสายพันธุ์ภูเก็ต ขึ้นไปทดลองปลูกในพื้นที่ต่างๆ ของภาคเหนือ แต่ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่า ผลที่ออกมามีรสชาติดีเหมือนที่นางแลหรือไม่  แต่ที่แน่ๆ สับปะรดภูแลแท้ๆ ต้องที่เชียงรายเท่านั้นครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook