สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

สารจับใบ กับประโยชน์ทางการเกษตร

สารจับใบ คือ สารลดแรงตึงผิวทางชีวภาพที่นำมาใช้ในการเกษตร เป็นสารที่ได้จากจุลินทรีย์ที่มีโครงสร้างทั้งส่วนที่ชอบน้ำและไม่ชอบน้ำ ช่วยให้ชีวภัณฑ์ต่างๆ เกาะกับผิวใบและส่วนต่างๆ ของพืชได้ดี และทำห้ใบพืชดูดซึมชีวภัณฑ์ได้ดีขึ้นและง่ายขึ้น ย่อยสลายได้ดี ไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง ทั้งใช้ป้องกันโรคต่างๆ ของต้นพืชทำให้พืชมีภูมิที่ดี โดยเพาะโรคที่เกิดจากเชื้อราและแบคทีเรีย  ป้องกันแมลงศัตรูพืช และยังช่วยเร่งผลผลิต เมื่อใช้สารจับใบในการฉีดพ่นต้นพืช จะทำให้ละอองของชีวภัณฑ์มีขนาดเล็ก ทำให้สามารถแทรกซึมไปได้ทั่ว กระจายตัวได้ดีทั่วทั้งต้น ลดการสูญเสียจากการระเหยและการไหลทิ้งของชีวภัณฑ์ และไม่ถูกชะล้างออกโดยง่าย

การใช้สารจับใบที่ใช้เพื่อป้องกันโรคพืช สารนี้จะสามารถเกาะติดบริเวณภายนอกต้นพืช จะช่วยเคลือบและเป็นด่านป้องกันเชื้อราบางชนิดไม่ให้เข้าไปสู่เซลล์ต่างๆ ของพืชได้ ทำให้สามารถป้องกันและกำจัดโรคไหม้และเชื้อราต่างๆ ได้ สำหรับการนำมาใช้เพื่อป้องกันแมลงสามารถใช้ร่วมกันกับจุลินทรีย์เพื่อให้เกิดคุณสมบัติที่ดีขึ้น สามารถป้องกันแมลงได้ยาวนานขึ้น เพราะหากใช้เฉพาะสารจับใบอย่างเดียวอาจจะควบคุมแมลงได้ในเวลาไม่นานนัก

วิธีการใช้สารจับใบพืชในรูปแบบต่างๆ นั้น สามารถใช้แบบสารจับใบแบบบริสุทธิ์ที่ได้ นำมากรองโดยใช้เยื่อกระดาษเป็นตัวกรองและการสกัดด้วยการใช้กรดสกัดที่เป็นกระบวนการทำบริสุทธิ์ที่ไม่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมากนักและทำได้โดยใช้เวลาน้อย หรืออาจจะใช้สารแบบไม่บริสุทธิ์ที่มีการนำมาใช้ร่วมกันกับจุลินทรีย์ที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตสารลดแรงตึงผิวทางชีวภาพ เช่น เชื้อราไตรโคเดอร์มา เชื้อแบคทีเรียบีที เชื้อราบิววาเรีย เชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส เป็นต้น ขึ้นกับสภาพหน้างานและเป้าหมายของการใช้งาน โดยทั่วไปหากเป็นสารจับใบพืชทางชีวภาพบริสุทธิ์ให้นำสารจับใบปริมาณ 100 มิลลิลิตรผสมในน้ำ 1 ลิตร หรือจะนำจุลินทรีย์มาผสมแทนการใช้น้ำก็ได้ และนำไปฉีดพ่นบนต้นพืชในเวลาที่มีแสงแดดส่องถึงแต่สภาพอากาศยังไม่ร้อนมากเพื่อเป็นการกระตุ้นให้จุลินทรีย์ทำงานได้ดีขึ้น

อย่างไรก็ตามการใช้สารจับใบที่มีจำหน่ายในท้องตลาดนั้น เราต้องใช้ตามปริมาณที่ได้รับคำแนะนำหรือตามฉลากอย่างเข้มงวด เพราะสารจับใบแต่ชนิดนั้นมีความเข้มข้นแตกต่างกันไปตามสูตรของผู้ผลิตแต่ละรายซึ่งอาจมีการผสมสารอื่นๆ เข้าไปด้วย หากเราผสมให้เกิดความเข้มข้นมากเกินกว่าที่ฉลากระบุอาจจะทำให้พืชเกิดโรคใบไหม้จนก่อให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตตามมาได้

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook