สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

การพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์สารสกัดจากหญ้าแฝกหอม เพื่อควบคุมไส้เดือนฝอยรากปมในแปลงผลิตพริกปลอดภัย

ปัจจุบันการผลิตพืชผักปลอดภัยนั้นเป็นกระแสที่ได้รับความนิยมที่เพิ่มมากขึ้น ความสนใจเกี่ยวข้องกับ สุขภาพ และอาหาร เริ่มเข้ามีบทบาทในชีวิตคนไทยมากยิ่งขึ้น ดังนั้นทุกขั้นตอนของการผลิตมีผลต่อคุณภาพ และปลอดภัยของพืชผัก อย่างไรก็ตามประเทศไทย ยังพบปัญหาตกค้างของสารกำจัดศัตรูพืชในผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งทำให้มีการปฏิเสธการนำเข้าสินค้าทางการเกษตรอยู่เสมอ เนื่องจากเกษตรกรขาดเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสม โดยเฉพาะการจัดการศัตรูพืชอย่างถูกวิธี พริกเป็นพืชเศรษฐกิจหนึ่งที่พบการตกค้างของสารกำจัดศัตรูพืชในปริมาณที่สูงเกินค่ามาตรฐาน ตามมาตรการด้านสุขอนามัยพืชจากอนุสัญญาว่าด้วยการอารักขาพืช IPPC ของการเปิดตลาดเสรีภายใต้ WTO ทำให้เกิดปัญหาการปฏิเสธการนำเข้าจากประเทศคู่ค้าและมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเกษตรกรมีการพ่นสารศัตรูพืชจากการเข้าทำลายของแมลงและโรคพืชอย่างต่อเนื่องในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การผลิตกล้าพริก ย้ายปลูก จนถึงการเก็บเกี่ยว ส่งผลให้ผลผลิตมีคุณภาพไม่ ถึงมาตรฐานเพื่ออุตสาหกรรมและการส่งออก

หญ้าแฝกหอม (Vetiveria zizanioides) เป็นพืชที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย นอกจากคุณสมบัติการป้องกันการชะล้างพังทลายของดินแล้วนั้น ยังพบรายงานวิจัยด้านต่าง ๆ ของหญ้าแฝกหอม ทั้งเป็นองค์ประกอบของยาสมุนไพรไทย เครื่องจักรสาร เครื่องสำอาง รวมถึง การกำจัดศัตรูพืช เช่น ปลวก มด เห็บ และ ไส้เดือนฝอย โดยพบว่าหญ้าแฝกหอมเกือบจะไม่เป็นพืชอาศัย ไส้เดือนฝอยและสารสกัดจากหญ้าแฝกหอมมีฤทธิ์ต่อไส้เดือนฝอยรากปม ไส้เดือนฝอยรากปมนั้นสามารถอาศัยอยู่ในดินจึงยากต่อการกำจัดและแพร่ระบาดด้วยน้ำได้ดี

ต้นพริกที่ถูกเข้าทำลายด้วยไส้เดือนฝอยจะแสดงออกให้เห็นเมื่อเจริญเติบโตเต็มที่พร้อมให้ผลผลิต หรือเก็บผลผลิตไป 1-2 ครั้ง ซึ่งจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทันท่วงที ทำให้ผลผลิตพริกไม่มีคุณภาพและปริมาณลดลง เนื่องจากเกษตรกรขาดความรู้ในกระบวนการผลิตพริกที่ประสบปัญหาโรครากปมได้อย่างเหมาะสม ตั้งแต่การผลิตกล้าปลอดโรครากปม การลดและควบคุมประชากรของ ไส้เดือนฝอยรากปมให้ไม่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตพริก

สวก.จึงสนับสนุนทุนวิจัยในโครงการ “การพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์สารสกัดจากหญ้าแฝกหอมเพื่อควบคุม ไส้เดือนฝอยรากปมในแปลงผลิตพริกปลอดภัย” เพื่อหนุนให้คณะผู้วิจัย พัฒนาผลิตภัณฑ์จากสารสกัดหญ้าแฝกหอมเพื่อควบคุมไส้เดือนฝอยรากปมที่พบในแปลงผลิตพริก โดยเฉพาะ Meloidogyne enterolobii ที่เป็นสายพันธุ์สำคัญที่สามารถก่อโรคได้รุนแรงกว่าสายพันธุ์อื่น เนื่องจากสามารถปรับตัวให้ต้านทาน Mi gene ในพืชต้านทานไส้เดือนฝอยรากปม การมีวงจรชีวิตและเพิ่มปริมาณได้รวดเร็วกว่าสายพันธุ์อื่น และถูกระบุเป็นไส้เดือนฝอยศัตรูพืชกักกันใน EPPO A2 list และ Plant Pest in Thailand พบครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปี 2556 จากแหล่งปลูกฝรั่ง จังหวัดสมุทรสาครและนครปฐม และในปี 2562 จากแหล่งปลูกพริก จังหวัดอุบลราชธานี นำไปสู่การพัฒนาแนวทางการจัดการแปลงพริกที่เหมาะสมเมื่อพบการแพร่ระบาด ของโรครากปม ซึ่งได้แบ่งการศึกษาออกเป็น 3 โครงการย่อยคือ

  • การศึกษาองค์ประกอบทางเคมีสายพันธุ์ หญ้าแฝกหอม และพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์สารสกัดจากหญ้าแฝกหอมเพื่อควบคุมไส้เดือนฝอย
  • การพัฒนาวิธีการใช้ผลิตภัณฑ์สารสกัดหญ้าแฝกหอมในกระบวนการผลิตพริกในแปลงที่เหมาะสมเพื่อการควบคุมไส้เดือนฝอยรากปม Meloidogyne enterolobii
  • การพัฒนาระบบการผลิตต้นหญ้าแฝกหอมด้วยไบโอรีแอคเตอร์จม ชั่วคราวเพื่อเป็นวัตถุดิบที่คงคุณภาพสารสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ควบคุมไส้เดือนฝอยรากปมในระดับอุตสาหกรรม

โครงการนี้สามารถพัฒนาต่อยอดสู่รูปแบบผลิตภัณฑ์ควบคุมไส้เดือนฝอยรากปมทางการค้าในอนาคต และได้ศึกษาเพื่อรองรับการผลิตในระดับอุตสาหกรรมขนาดเล็ก โดยการนำเทคโนโลยีไบโอรีแอคเตอร์ (bioreactor) มาควบคุมปริมาณและคุณภาพของหญ้าแฝกหอมเพื่อการผลิตสารออกฤทธิ์ที่มีมาตรฐาน  นำไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพและคุณภาพในการควบคุมไส้เดือนฝอยรากปม ยังผลต่อยอดสู่การผลิตพริกปลอดภัย ลดการปนเปื้อนของสารเคมี ในการสินค้าเกษตรและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นที่ต้องการของอุตสาหกรรมและการส่งออก รวมถึงการส่งเสริมเกษตรกรผลิตสารชีวภัณฑ์อย่างง่ายใช้เองในครัวเรือน เพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มรายได้ และสุดท้ายเป็นการเพิ่มมูลค่าหญ้าแฝกหอมให้สูงขึ้น

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook