สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

สาหร่ายพวงองุ่น คาเวียร์สีเขียวที่เพาะเลี้ยงได้ในไทย

สาหร่ายพวงองุ่น อาหารจานเด็ดที่เมื่อเคี้ยวแล้วจะมีความกรุบกรับในช่องปาก ที่เป็นที่รู้จักของนักชิมทั่วไป จนได้รับการขนานนามภาษาอังกฤษว่า Green Caviar บ้างก็เลือกรับประทานแบบสดๆ เพื่อจะลิ้มรสแท้ๆ ของอาหาร บ้างก็นำมาปรุงสุกก่อน แต่อย่างไรก็ตามต้องนำไปล้างให้สะอาดในน้ำเย็นๆ หลายรอบก่อนรับประทานเสมอ ในประเทศญี่ปุ่น จีน และเกาหลี นิยมรับประทานกันมายาวนาน ส่วนในประเทศไทยเรานั้นเริ่มเป็นที่รู้จักกันกว้างขวางมากขึ้น และเริ่มมีการเพาะเลี้ยงแพร่หลายมากขึ้นเพื่อรองรับตลาดอาหารสุขภาพที่กำลังเป็นแนวโน้มสำคัญ

สาหร่ายพวงองุ่น มีชื่อสามัญว่า Sea Grapes อยู่ในวงศ์สาหร่ายทะเลสีเขียว ลักษณะของเม็ดสาหร่ายจะกลมมนมีขนาดเล็กราว 1.5-2. มิลลิเมตร เรียงตัวกันเป็นช่อยาวคล้ายพวงองุ่นขนาดจิ๋วหรือช่อพริกไทยสด พบได้ในทะเลเขตร้อน แถบประเทศ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ปาปัวนิวกินี และ ไทย เป็นต้น ตามธรรมชาติมักจะอาศัยในพื้นทรายโคลนใต้น้ำทะเลตื้นๆ หรือก้อนหินตามแนวปะการัง ด้วยความต้องการบริโภคของตลาดมีสูงขึ้นทำให้เกิดการเพาะเลี้ยงสาหร่ายชนิดนี้ในเชิงพาณิชย์เพิ่มมากขึ้น ทั้งแบบเลี้ยงในบ่อพักธรรมชาติ บ่อดินที่ใช้เลี้ยงสัตว์ทะเลชนิดอื่น และบ่อคอนกรีต เพื่อรองรับตลาดที่ขยายตัวสูงขึ้น

สำหรับการเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นในบ่อดินนั้นสามารถทำได้การปลูกได้ทั้งการปักชำและการหว่าน แต่เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมปลูกด้วยการหว่านเพื่อควบคุมความหนาแน่นได้ดีขึ้น ทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ขนาดของสาหร่ายใกล้เคียงกันและมีแขนงที่ยาวอีกด้วย การเตรียมน้ำให้ใช้น้ำที่มีความเค็ม 27-30 ppt ไว้ในบ่อ โดยให้มีระดับน้ำสูง 40 เซนติเมตรเมื่อเริ่มปลูก เพื่อให้แสงแดดส่องถึง เมื่อผ่านไป 7 วันสาหร่ายเริ่มโตจึงค่อยๆ เพิ่มระดับความสูงของน้ำเล็กน้อยเพื่อให้แสงส่องถึงเสมอ ความลึกเฉลี่ยประมาณ 60- 100 เซนติเมตร เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนน้ำได้ดีควรมีการสูบน้ำเข้าบ่อทุก 3 วัน และติดตั้งเครื่องตีน้ำรอบช้าไว้ จะทำให้ได้สาหร่ายที่มีคุณภาพและปริมาณสูง ใช้เวลาประมาณ 30-60 วันหลังจากปลูกก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตออกจำหน่ายได้ และหลังจากนั้นจะสามารถเก็บเกี่ยวได้ทุก 14 วัน

สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเสมอคือแสงจะต้องส่องผ่านน้ำลงไปปถึงสาหร่ายเสมอ ดังนั้นจะต้องให้ความสำคัญกับระดับน้ำ และควรทำการสุ่มตรวจความหนาแน่นของผลผลิตต่อพื้นที่ ไม่ให้มีความหนาแน่นเกินกว่า 1 กิโลกรัม/ตารางเมตร เพราะจะทำให้แสงกระจายไม่ทั่วถึงและสาหร่ายได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ หากพบว่ามีความหนาแน่นเกินให้นำไปหว่านในบ่ออื่นหรือพื้นที่อื่นแทน และควรหมั่นกำจัดสาหร่ายชนิดอื่นออกจากบ่อเพื่อไม่ให้แย่งธาตุอาหารจากสาหร่ายพวงองุ่นที่เราเพาะเลี้ยง

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook