สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

การประเมินศักยภาพของฟาร์มส่งออกต่อข้อกำหนดด้านสุขภาพสัตว์น้ำสวยงาม

หากจะกล่าวถึงอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้เข้าประเทศไทยเราจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือการส่งออกสัตว์น้ำสวยงาม ที่ประเทศไทยเรามีความได้เปรียบจากการพัฒนาเทคโนโลยีระบบเพาะเลี้ยงที่ก่อให้เกิดผลผลิตสูง และยังสามารถพัฒนาพันธุ์สัตว์น้ำที่มีเอกลักษณ์สวยงาม โดดเด่น ได้อย่างหลากหลาย อย่างไรก็ตามด้วยแนวทางการปฏิบัติเพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อก่อโรคจากการเคลื่อนย้ายสินค้าสัตว์น้ำสวยงามเข้าสู่ประเทศผู้นำเข้า จะต้องเป็นไปตามแนวทางขององค์การสุขภาพสัตว์โลก (World Organization for Animal Health, OIE) รวมทั้งข้อกำหนดที่ประเทศผู้นำเข้าระบุเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสมและมีความเข้มงวดเพิ่มมากขึ้น ทำให้การดำเนินการด้านกำกับดูแลฟาร์มสัตว์น้ำสวยงามเพื่อการส่งออกในประเทศไทยโดยกรมประมงนั้น อาจยังไม่สอดคล้องกับข้อเรียกร้องของประเทศคู่ค้าอย่างสมบูรณ์ แม้ว่าจะมุ่งเน้นในส่วนของสุขอนามัยและการตรวจเฝ้าระวังโรค เพื่อให้สามารถรับรองการปลอดโรคของแหล่งที่มาของสัตว์น้ำสวยงามเพื่อการส่งออกอย่างเต็มที่ก็ตาม

สวก.จึงสนับสนุนทุนวิจัยแก่คณะผู้วิจัยจากกรมประมงเพื่อดำเนินการวิจัยในโครงการ “การประเมินศักยภาพของฟาร์มส่งออกต่อข้อกำหนดด้านสุขภาพสัตว์น้ำสวยงาม” โดยมี ดร.พุทธรัตน์ เบ้าประเสริฐกุล เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย เพื่อทำการศึกษาถึงศักยภาพที่สามารถดำเนินการได้และที่ไม่สามารถดำเนินการได้ของผู้ผลิตสัตว์น้ำสวยงามในประเทศไทยต่อข้อเรียกร้องในการรับรองโรคของประเทศผู้นำเข้าแต่ละประเทศ โดยทำการรวบรวมกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าสัตว์น้ำสวยงามของสาธารณรัฐประชาชนจีนและสาธารณรัฐเกาหลี นำมาพัฒนาระบบเพื่อตรวจสอบและควบคุมกำลังผลิตของฟาร์มส่งออกสัตว์น้ำสวยงามไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน ศึกษาข้อปฏิบัติที่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงและรวบรวมสัตว์น้ำสวยงามปฏิบัติได้ตามข้อกำหนดของประเทศผู้นำเข้าสินค้าสัตว์น้ำสวยงามที่สำคัญของประเทศไทย ตลอดจนจัดทำข้อเสนอแนวทางปฏิบัติเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตสัตว์น้ำสวยงามให้ตรงตามข้อกำหนดของประเทศผู้นำเข้าที่สำคัญ ซึ่งจะช่วยให้ทั้งภาครัฐและเกษตรกรมองประเด็นปัญหาที่ดำเนินการอยู่ได้อย่างชัดเจนมากขึ้น เพื่อให้สามารถหาแนวทางในการดำเนินการได้อย่างถูกต้อง ตรงประเด็น และมีประสิทธิภาพต่อไป อันจะช่วยให้การดำเนินการในฟาร์มสัตว์น้ำสวยงามของไทยเป็นไปอย่างสอดคล้องกับข้อรียกร้องและการให้การรับรองในหนังสือรับรองสุขภาพสัตว์น้ำเพื่อการส่งออก

ผลสำเร็จของงานวิจัยนอกจากต้นฉบับเอกสารเผยแพร่กฎระเบียบนำเข้าของประเทศคู่ค้าและข้อแนะนำแนวทางการผลิตสินค้าสัตว์น้ำสวยงามให้ได้ตามมาตรฐานของประเทศคู่ค้าสำหรับการเผยแพร่ต่อไป ยังก่อให้เกิดระบบการตรวจสอบและควบคุมกำลังผลิตของฟาร์มส่งออกสัตว์น้ำสวยงามไปสาธารณรัฐประชาชนจีน รวมไปถึงรายงานสรุปความสามารถในการดำเนินการของผู้ประกอบการต่อข้อเรียกร้องของผู้นำเข้าที่สำคัญ เพื่อการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการสัตว์น้ำสวยงามส่งออกของไทย ลดการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการบันทึกควบคุมกำลังผลิตของฟาร์มส่งออกสัตว์น้ำสวยงามไปสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อผู้ประกอบการสามารถปรับวิธีการผลิตสินค้าสัตว์น้ำให้ได้คุณภาพและมาตรฐาน ส่งผลให้ธุรกิจการส่งออกสัตว์น้ำมีมูลค่าและรายได้เพิ่มขึ้น มีความมั่นคงและยั่งยืนต่อไป

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook