สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ส้มสายน้ำผึ้ง ส้มชานนุ่มจากเมืองเหนือ

ส้มสายน้ำผึ้ง เป็นชื่อเรียกส้มเขียวหวานพันธุ์หนึ่งที่มีแหล่งผลิตสำคัญอยู่ที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ และพื้นที่ใกล้เคียงในเขตภาคเหนือตอนบน เป็นส้มเขียวหวานที่ผู้บริโภคนิยมรับประทานเพราะมีรสชาติหวานและมีชานส้มที่นุ่ม มีผลผลิตจำหน่ายทั้งปีเพราะสามารถผลิตนอกฤดูได้

ลักษณะภายนอกโดยทั่วไปของผลส้มสายน้ำผึ้งนั้น ไม่แตกต่างจากส้มเขียวหวานพันธุ์อื่นๆ  ทั้งในเรื่องของรูปทรงและขนาด ที่มีรูปทรงกลม ลักษณะแป้นเล็กน้อย ปลายผลตรงกลางจะเว้าลงเป็นแอ่งเล็กน้อย ส่วนฐานผลกลม ผิวผลเรียบเนียน เปลือกปอกง่ายไม่แน่นกับเนื้อผล ระหว่างกลีบสามารถแยกออกจากกันได้ง่ายเหมือนกับส้มเขียวหวานทั่วไป  แต่จะพบว่ามีความโดดเด่น คือ มีเปลือกส้มที่บางกว่า เมื่อปอกเปลือกแล้วจะมีเนื้อส้มที่สีเข้มกว่า มีเนื้อในแน่น ปริมาณน้ำส้มมาก ทำให้มีน้ำหนักผลมากกว่าพันธุ์อื่น และให้ผลผลิตจำนวนมาก

การปลูกส้มสายน้ำผึ้งนั้นนิยมขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่งเพราะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เร็ว โดยสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ประมาณปีที่ 3 หลังจากการปลูก และยังให้ผลผลิตค่อนข้างสูงกว่าการขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด การวางแผนเรื่องการเตรียมแปลงปลูกจะต้องคำนึงถึงพื้นที่ปลูกเป็นสำคัญ หากพื้นที่ปลูกเป็นที่ดอน ให้ทำการกำจัดตอหรือรากไม้ต่างๆ ออกให้หมดแล้วทำการไถพรวนลงไปราว 40 เซนติเมตร ก่อนที่จะปรับหน้าดินให้เรียบและขึ้นแปลงปลูกเป็นแนวเหนือ-ใต้ เพื่อให้ได้รับแสงแดดได้ทั่วถึง ความกว้างของแปลง 3 เมตร ยกสูงขึ้น 40 เซนติเมตร เว้นระยะระหว่างแปลงอย่างน้อย 3 เมตร เพื่อสะดวกในการนำเครื่องจักรกลและรถเก็บเกี่ยวเข้าพื้นที่ได้โดยง่าย แต่หากเป็นพื้นที่ลุ่มควรทำการยกร่องและวางท่อระบายน้ำรอบพื้นที่ นอกจากนี้ต้องทำกั้นน้ำเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขังได้  สำหรับระยะการปลูก สามารถปลูกโดยใช้ระยะห่าง 2 เมตร- 5 เมตร ซึ่งมีหากเว้นระยะ 2 เมตร ในช่วง 3-5 ปีแรกจะได้ผลผลิตมากกว่า ส้มที่ปลูกเว้นระยะ 4-5 เมตร แต่ข้อด้อยคือ ทรงพุ่มจะของแต่ละต้นจะชิดกันมากเกินไป จนอาจจะทำให้แสงแดดส่องไม่ทั่วถึง และอาจจะเกิดโรคพืชและแมลงศัตรูแพร่กระจายจากต้นสู่ต้นได้ง่าย ดังนั้นเกษตรกรส่วนใหญ่จึงมักปลูกเว้นระยะ 5 เมตร เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว

ส้มสายน้ำผึ้งเป็นพืชผลที่จำเป็นต้องให้น้ำปริมาณมาก และเป็นพืชที่ไม่สามารถเจริญได้ดีในดินเปรี้ยวหรือดินด่าง ดังนั้นก่อนจะทำการเลือกปลูกส้มนั้น สิ่งแรกที่ต้องทำคือการวิเคราะห์ดิน เพื่อให้เกิดความเสียหายเกิดขึ้นภายหลัง คุณสมบัติดินในแหล่งปลูกควรเป็นดินร่วนหรือดินร่วนปนทราย มีหน้าดินลึกอย่างน้อย 60 เซนติเมตร มีค่า pH ประมาณ 5.5-6.5  และควรเลือกพื้นที่ที่ดินสามารถระบายน้ำได้ดีเพื่อไม่ให้เกิดน้ำขังในช่วงฤดูฝน

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook