สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

หงส์เหิน ดอกรวงงามที่มาพร้อมวันเข้าพรรษา

ดอกหงส์เหิน ดอกไม้ไทยที่ดังไกลถึงประเทศญี่ปุ่นและเมืองแห่งไม้ตัดดอกอย่างประเทศเนเธอร์แลนด์ แม้ในประเทศไทยจะยังไม่มีคนรู้จักกันแพร่หลายนักก็ตาม ส่วนมากในไทยเราจะนำดอกไม้ชนิดนี้มาใช้ช่วงเข้าพรรษาในกิจกรรมตักบาตรดอกไม้เป็นส่วนใหญ่ จึงยังไม่มีการผลิตเป็นไม้ตัดดอกเชิงพาณิชย์ แหล่งผลิตโดยทั่วไปจะอยู่ในจังหวัด เชียงใหม่ ลำพูน สระบุรีและตาก ส่วนการสั่งซื้อจากต่างประเทศนั้นจะสั่งซื้อหัวพันธุ์เพื่อนำไปขยายพันธุ์ต่อที่ปลายทาง ทั้งสายพันธุ์สีม่วงและสีขาวจะเป็นสายพันธุ์ของหัวพันธุ์ที่ตลาดต่างประเทศให้ความนิยม

หงส์เหิน เป็นไม้ดอกดั้งเดิมที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศเมียนมาร์ เวียดนามและไทย ซึ่งเป็นพื้นที่เขตร้อนชื้น พบตามธรรมชาติในชายป่าที่มีต้นไม้ใหญ่ขึ้นครึ้มคอยเป็นร่มเงาพลางแสงให้แก่ดอกหงส์เหิน พบได้ทั่วไปในหลายจังหวัดทั่วทุกภาค จะออกดอกในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกันยายนซึ่งเป็นห้วงเวลาเข้าพรรษาจึงถูกเรียกว่า ดอกเข้าพรรษา บ้างก็เรียกว่าว่านดอกเหลือง ปุดนกยูงก็เรียก และกล้วยเครือคำก็เรียก ส่วนภาษาอังกฤษมักเรียกกันว่า Dancing Ladies หรือแปลเป็นไทยว่า สตรีเต้นระบำนั่นเอง

หงส์เหินเป็นพืชในวงศ์เดียวกันกับข่าและขิง มีหัวหรือเหง้าอยู่ใต้ดินเช่นกัน ส่วนรากที่ใช้กักเก็บธาตุอาหารไว้นั้นจะมีลักษณะพองอวบอยู่รอบเหง้าคล้ายลักษณะของรากกระชาย ลำต้นเทียมจะแทงออกมาเหนือดิน โดยเป็นกาบใบที่โอบกอดกันแน่นมีความสูงตั้งแต่ 30-70 เซนติเมตร ใบยาวเรียวปลายแหลมคล้ายปลายหอก ใบมีขนาด 10*20 เซนติเมตร เมื่อมีใบแตกออกมาราว 5 ใบ จะเริ่มมีดอกที่แทงดอกจากบริเวณกลางยอดของลำต้นเทียม พันธุ์ที่พบโดยมากจะมีช่อดอกที่โค้งตัวโน้มลง ปลายช่อชี้ลงพื้นดินอย่างอ่อนช้อยงดงาม ช่อดอกจะมีลักษณะทรงกระบอก เรียวและยาว ดอกสีเหลืองคล้ายนก ซึ่งอาจจะเป็นที่มาของคำว่าหงส์เหินก็เป็นได้ มีกลีบประดับหลายสีตามแต่ละชนิด ทั้งสีขาว สีเขียว สีม่วง สีชมพู เป็นต้น และยังมีพันธุ์ที่แทงช่อออกมาเป็นช่อทรงกลม ช่อตั้งขึ้น แต่มักจะพบไม่มากนัก

การขยายพันธุ์หงส์เหินสามารถทำได้ทั้งการเพาะเมล็ดและแยกเหง้า แต่ส่วนใหญ่นิยมแยกเหง้าเพราะได้ผลมากกว่าและใช้เวลาในการเพาะปลูกน้อยกว่า โดยในช่วงที่ต้นพืชพักตัวในช่วงหน้าหนาวนั้นให้ทำการขุดเหง้าขึ้นมาแล้วแยกออกมาเป็นหัวเพื่อนำไปปลูกในดินที่เตรียมไว้ โดยเว้นระยะระหว่างหัวประมาณ 30 เซนติเมตร ดินที่เหมาะแก่การเพาะปลูกควรเป็นดินร่วนที่ระบายน้ำได้ดี ไม่เคยมีประวัติการปลูกพืชวงศ์เดียวกันมาก่อน และเป็นที่ร่มมีแสงแดดรำไร เพื่อให้ได้ผลผลิตเต็มที่ ใช้เวลาไม่เกิน 3 เดือนก็สามารถตัดดอกนำไปบูชาพระได้

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook