สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

หญ้าขจรจบ หรือหญ้าคอมมิวนิสต์

หญ้าขจรจบ หรือหญ้าคอมมิวนิสต์ คือหญ้าวัชพืชตัวฉกาจในบางพื้นที่อาจจะเรียกว่า หญ้าพม่า มีถิ่นกำเนิดจากประเทศเอธิโอเปีย บ้างก็ว่าประเทศอินเดีย  ในประเทศไทยมีการกระจายพันธุ์ไปทั่วประเทศและเติบโตอย่างรวดเร็วและหนาแน่น

ลักษณะของหญ้าขจรจบ หรือหญ้าคอมมิวนิสต์ จะเป็นต้นหญ้า ไม้ล้มลุก ที่เจริญเติบโตเป็นกอ ตั้งตรง สูงประมาณ 2-3 เมตร ลำต้นแข็ง มีข้อปล้อง บริเวณโคนต้นจะพบรากเกิดขึ้นตามข้อหยั่งลงดิน มีกาบใบโอบล้อมข้อไว้ ใบแคบเรียวยาว มีขนนุ่มปกคลุมทั้งผิวใบและท้องใบ ดอกสมบูรณ์เพศ ผลิเป็นช่อทรงกระบอกยาวตรงปลายยอด มีขนฟูนุ่มปกคลุมตลอดช่อดอก เมล็ดที่ร่วงจากดอกลงสู่ดิน เมื่อได้รับน้ำฝนก็จะเริ่มงอกใหม่เป็นวัฏจักรอย่างนี้ตลอดไป โดยหญ้าชนิดนี้จะแบ่งออกเป็น พันธุ์หญ้าขจรจบดอกแดงใหญ่ หญ้าขจรจบดอกแดงเล็ก และหญ้าขจรจบดอกเหลืองเล็ก ตามขนาดและสีของดอก

ที่ผ่านมาเกษตรกรได้รับความเสียหายจากการกระจายพันธุ์ของหญ้าขจรจบ หรือหญ้าคอมมิวนิสต์ ที่มีการแพร่กระจายพันธุ์ได้เร็ว เนื่องจากขนที่ปุยฟูบริเวณดอกนั้นสามารถล่องลอยไปตามลม และยังมีกอขนาดใหญ่ซึ่งทำให้แตกดอกได้เยอะ เร่งให้เกิดการแพร่กระจายได้กว้างขึ้น นอกจากนี้ด้วยความสูงและกอที่ใหญ่ก็ยังทำให้กำจัดหญ้าขจรจบได้ยาก และที่ใดที่มีหญ้าชนิดนี้เจริญเติบโต จะทำให้พืชอื่นๆ ไม่สามารถงอกในบริเวณนั้น ทำให้เสียที่ดินการเกษตรไป และเมื่อเกิดการแพร่ระบาดในเรือกนาไร่สวนยังทำให้ผลผลิตที่ได้รับมีปริมาณลดน้อยถอยลงด้วย

แต่อย่างไรก็ตาม พบว่าหญ้าชนิดนี้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ไม่น้อย เช่น นำเส้นใยมาผลิตเป็นเยื่อกระดาษ ซึ่งการนำหญ้าขจรจบมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตกระดาษนั้น ทำให้ต้นทุนในการผลิตกระดาษลดน้อยลงเมื่อเทียบกับการนำฟางข้าวมาเป็นวัตถุดิบ นอกจากนี้หญ้าขจรจบ หรือหญ้าคอมมิวนิสต์ ยังเป็นพืชที่มีระบบรากขนาดใหญ่ ทำหน้าที่ยึดเกาะกับดินอย่างดี สามารถปลูกเพื่อเป็นพืชคลุมดิน ป้องกันการชะล้างหน้าดินได้แม้จะมีประสิทธิภาพด้อยกว่าหญ้าแฝกก็ตาม และยังสามารถนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ด้วย หากในบริเวณรกร้างในไร่นา มีหญ้าชนิดนี้ขึ้นและมีอายุราว 40 วัน เราสามารถปล่อยสัตว์ เช่น โค กระบือ แพะ แกะ เป็นต้น มาแทะกินหญ้าได้เอง หรือจะตัดหญ้าไปเลี้ยงสัตว์ที่คอกก็ได้ หญ้าวัชพืชที่ช่วยทั้งเรื่องการป้องกันความเสื่อมโทรมของดิน กันหน้าดินโดนชะล้าง ช่วยยึดดิน ปรับโครงสร้างดินให้โปร่งและร่วนซุยขึ้น ช่วยรักษาความชุ่มชื้นในดิน และยังใช้เป็นอาหารสัตว์ได้ เราก็ควรนำมาใช้ประโยชน์ในการทำการเกษตรของเราให้เต็มที่ครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook