สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

หนอนแมลงวันลาย อาหารสัตว์ต้นทุนต่ำและตัวกำจัดขยะอินทรีย์ชั้นเยี่ยม

พอได้ยินคำว่าหนอนแมลงวันลาย หลายคนอาจจะรู้สึกขยาดหรือแขยงขึ้นมาทันที แต่รู้หรือไม่ว่าแมลงวันลายนั้นแตกต่างจากแมลงวันบ้านที่เป็นพาหะนำโรคท้องเสียมาสู่คน เพราะแมลงวันลายนั้นไม่ได้อาศัยอยู่กับของเน่าเสียเหมือนแมลงวันบ้าน แมลงวันลายจะมีแหล่งดำรงชีวิตอยู่ตามต้นไม้ ใช้น้ำหวานหรือขยะอินทรีย์จากส่วนต่างๆของพืชเป็นอาหารและยังวางไข่บนเศษใบไม้และผลไม้  ไม่รุกรานพืชและไม่เป็นพาหะนำโรคใดๆ ทั้งสิ้น

แมลงวันลาย มีชื่อสามัญภาษาอังกฤษว่า Black Soldier Fly หรือเรียกกันย่อๆ ว่า BSF จะมีรูปร่างคล้ายตัวต่อเมื่อโตเต็มวัย ลำตัวมีสีดำ แต่จะมีสีขาวที่ปลายขา ปีกทั้งสองข้างสะท้อนแสงได้ มีแถบที่ท้องและมีจุดใสๆ สีขาวบริเวณหลัง เป็นหนอนที่มีคุณค่าโภชนาการอาหารประเภทโปรตีนสูงถึง 42% ไขมัน 35% เหมาะต่อการนำมาใช้ประโยชน์เป็นอาหารสัตว์ เช่น ไก่ ปลานิล และกุ้ง โดยนำไปเสริมในอาหารหลัก จัดเป็นแมลงที่สามารถนำมากำจัดขยะอินทรีย์ได้ดีและยังสามารถนำมาเป็นอาหารสัตว์ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง

ด้วยข้อดีของหนอนแมลงวันลายที่กล่าวมาข้างต้น จึงมีเกษตรกรได้นำมาเพาะเลี้ยงเพื่อใช้หนอนและซากคาบดักแด้ของหนอนเป็นอาหารสัตว์ที่ให้โปรตีนและแคลเซียมสูง ช่วยลดต้นทุนอาหารสัตว์ที่เลี้ยงในฟาร์มตามวิถีธรรมชาติเกษตรทฤษฎีใหม่ และยังได้ปุ๋ยอินทรีย์จากมูลของหนอนและไว้ใช้ในฟาร์มอีกด้วย การเลี้ยงแมลงวันลายเพื่อให้ได้หนอนที่สมบูรณ์นั้น จะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ทั้งเรื่องของสภาวะอากาศ ระดับความชื้นสัมพัทธ์ ระดับแสงและแหล่งอาหารที่ใช้ในการเลี้ยง โดยอาหารที่ใช้เลี้ยงนั้นจะส่งผลต่อปริมาณเยื่อใยและไขมันของหนอน

การเลี้ยงหนอนแมลงวันลายในโรงเรือนแบบปิดโดยล้อมด้วยตาข่ายถี่หรือมุ้งลวด เป็นวิธีการเลี้ยงที่เราสามารถควบคุมปัจจัยการขยายพันธุ์และคุณภาพของแมลงได้ดี เพราะแมลงวันจะไม่สามารถบินออกไปผสมกับแมลงวันบ้าน ซึ่งเป็นบ่อเกิดของโรค โดยในโรงเรือนจะต้องมีการจำลองธรรมชาติเพื่อให้แมลงวันลายเกิดการวางไข่ โดยให้นำต้นไม้เทียม ท่อนไม้ มาจัดวางไว้และเพิ่มความชื้นเพื่อล่อให้แมลงมาเกาะ เมื่อเกิดการวางไข่แล้วจะใช้เวลาในการเกิดเป็นหนอนไปจนถึงการเกิดเป็นหนอนราว 20-25 วัน เพื่อนำไปใช้เป็นอาหารสัตว์ในฟาร์มร่วมกับการใช้อาหารอื่นๆ เช่น รำ ปลายข้าว ปลาป่นหรือนำไปขายต่อไป

นอกจากการเลี้ยงเพื่อเป็นอาหารสัตว์แล้ว ในหลายชุมชนยังหันมาสนใจรณรงค์ นำหนอนแมลงวันมาเลี้ยงไว้เพื่อใช้กำจัดขยะอินทรีย์ในพื้นที่ ซึ่งช่วยลดปริมาณขยะในชุมนได้อย่างดี มีค่าใช้จ่ายที่ไม่มาก และยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook