สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

หอยคราง ไม่ใช่หอยแครง

หอยคราง เป็นหอยทะเลสองฝาชนิดหนึ่งในวงศ์เดียวกันกับหอยแครง ลักษณะเปลือกหอยแข็ง มีขนาดปานกลาง มีฟันเปลือกหอยจำนวนมาก เปลือกหอยครางมีลักษณะทรงใกล้เคียงกับสี่เหลี่ยมคางหมู ฝาหอยบนและล่างมีขนาดแตกต่างกัน เปลือกหอยปกคลุมด้วยขน จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า “หอยแครงขน” โดยขนาดของหอยครางนั้นจะใหญ่กว่าหอยแครง

หอยคราง มีชื่อเรียกอีกอย่างว่าหอยขลุ่ย หรือหอยขน มีเปลือกและลักษณะรูปร่างคล้ายหอยแครงเพียงแค่มีขนาดที่ใหญ่กว่า และมีหลากหลายสีสันไม่ว่าจะเป็นสีขาวสีชมพู หรือสีเขียว เปลือกจะมีรอยหยักและมีขนห่อหุ้มอยู่รอบๆ เปลือกพบเจอได้ตามแนวปะการังโดยมีระดับน้ำที่ลึกอยู่ประมาณ 5-6 เม็ด หอยครางนั้นจะบริโภคแพลงก์ตอนพืชและแพลงก์ตอนสัตว์ และมี 2 เพศในตัวเดียวกัน  โดยเฉลี่ยหอยครางจะมีขนาดประมาณ 1.5-2 นิ้ว พบได้ในทะเลแถบจังหวัดสงขลา ภูเก็ต ไปจนถึงเพชรบุรีและตราด เป็นต้นครับ

ด้วยขนาดหอยที่ใหญ่ ทำให้เนื้อหอยครางมีขนาดที่ใหญ่ตามไปด้วย จึงทำให้ผู้บริโภคจำนวนหนึ่ง ที่นิยมทานหอยแครงมาก่อนแต่หาหอยแครงขนาดใหญ่มาทานไม่ได้ หันมาทานหอยครางกันมากขึ้น เพราะมีขนาดเนื้อที่พอดีคำ มีราคาขายที่ถูกกว่าหอยแครง แม้ว่าจะต้องล้างทำความสะอาดหอยก่อนนำมาปรุงมากกว่าหอยแครง เพราะหอยครางนั้นชอบอาศัยอยู่ในโคลนทราย บริเวณแนวปะการังลึกไม่น้อยกว่า 5 เมตร ทำให้ต้องทำความสะอาดนาน ทั้งนี้ผู้บริโภคจำนวนมากที่ทานหอยครางแกะเปลือก แล้วยังเข้าใจว่าเป็นหอยแครงเพราะเนื้อหอยนั้นมีรสชาติแทบไม่แตกต่างกัน แต่ด้วยความที่หอยครางมีขนาดตัวใหญ่กว่าหอยแครง จึงทำให้มีความเหนียวมากกว่าหอยแครง

สำหรับการนำหอยครางมาประกอบอาหารนั้น ส่วนใหญ่จะนำมาปรุงเหมือนกับหอยแครง เช่นยำหอยคราง พล่าหอยคราง หอยครางลวกจิ้ม หรือนำมาทำแกงหอย ซึ่งส่วนใหญ่เราจะพบว่า มีแม่ค้าขายยำหอยบางเจ้า นำเอาเนื้อหอยครางมาใช้แทนหอยแครง เพราะว่าตัวหอยครางมีขนาดใหญ่ ทำให้อาหารดูน่าทานมากยิ่งขึ้น และสามารถทดแทนหอยแครงที่ราคาแพงกว่าได้อีกด้วย

แม้ว่าจะมีการบริโภคหอยครางบ้าง แต่ยังไม่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย เพราะความยุ่งยากในการเตรียม และความเหนียวของหอยคราง รวมไปถึงรูปลักษณ์ของฝาหอยที่มีขนปกคลุม จึงดูไม่งามตานัก จึงทำให้หอยชนิดนี้ยังเป็นหอยที่หาได้จากธรรมชาติ ยังไม่มีการเพาะเลี้ยงเกิดขึ้น แตกต่างจากหอยแครง ที่เป็นที่นิยมของผู้บริโภค จนต้องมีการนำมาเพาะเลี้ยงเพื่อให้มีปริมาณเพียงพอแก่ตลาด และยังสามารถขายได้ราคาสูงครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook