สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

หอยบิด ตัวใหญ่ได้รสชาติเน้น ๆ

หอยบิด หรือชื่อเต็มๆ ที่เรียกกันทั่วไป คือ หอยแครงปากบิด มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Trisidos semitorta เป็นหอยที่พบได้ทั่วไปในแถบอินโด-แปซิฟิกตะวันตก เช่น ประเทศไทยและทางตะวันตกของประเทศอินโดนีเซียไปจนถึงประเทศฟิลิปปินส์ ตลอดจนทางเหนือของไต้หวันและเกาหลีใต้ จรดรัฐควีนส์แลนด์ของประเทศออสเตรเลีย ถูกจัดเป็นหอยหน้าดินที่อาศัยอยู่ในทะเลที่มีความลึกระดับ 0-30 เมตร มักจะฝังตัวครึ่งหนึ่งไว้ในในทรายเบื้องล่างกระแสน้ำลึกของทะเล ส่วนอีกครึ่งหนึ่งบิดเป็นเกลียวในระนาบเดียวกันกับพื้นผิวทราย ทำให้เปลือกหอยถูกกัดเซาะเกิดการแหว่งหวิ่น

หอยบิดเป็นหอยสองฝา มีฝาหอยสองข้างประกบเข้าหากัน โดยขอบฝาจะมีรอยบิดเป็นเกลียวแต่ประกบกันได้พอดีแม้ว่าฝาทั้งคู่จะมีขนาดไม่เท่ากันก็ตาม มีสลักบานพับเกี่ยวกันไว้ระหว่างสองฝาสามารถเปิดปิดได้ คล้ายหอยแมลงภู่ แต่กลับมีรสชาติคล้ายหอยแครง เนื้อหอยนุ่มเด้ง ขนาดตัวใหญ่ รสชาติของเนื้อหวาน และจุดเด่นคือ ไม่มีเลือด ทำให้เนื้อหอยไม่มีกลิ่นคาว สามารถนำไปทำให้สุกด้วยการนึ่ง ย่าง หรือต้มและนำมารับประทานด้วยการจิ้มน้ำจิ้มสามรส เพิ่มความแซบให้แก่เมนูเด็ดได้เป็นอย่างดี จนทำให้ร้านอาหารหลายแห่งนำมาเป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหาร ทั้งลวกจิ้มทั่วไป แกงคั่ว ผัดพริกแกง เพราะมีตลาดให้ความสนใจเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังมีแหล่งผลิตตามธรรมชาติน้อย ส่วนใหญ่จะอยู่ในน้ำลึก สามารถหาซื้อได้จากเรือประมงที่ทำการลากอวนจับปู ที่มักจะมีหอยชนิดนี้ติดอวนมาด้วย ซึ่งมีปริมาณไม่มากนัก ยิ่งเป็นของหายาก ร้านไหนมีไว้ให้ลูกค้าเลือกสั่ง ยิ่งมีลูกค้าเข้าไปอุดหนุน กลายเป็นอาหารทะเลชูโรงรายการหนึ่งของร้านอาหารกันเลย

ปัจจุบัน ผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพและชอบอาหารทะเลมักเลือกรับประทานหอยมากขึ้น โดยเฉพาะหอยสองฝาหรือหอยฝาคู่ต่างๆ รวมทั้งหอยบิด เพราะเป็นอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง ช่วยบำรุงโลหิต ทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง ป้องกันภาวะโลหิตจางและชดเชยการสูญเสียเลือดได้ และเมื่อบริโภคเข้าไปแล้วได้รับแคลอรี่ต่ำแตกต่างจากอาหารทะเลอื่นๆ ที่มักมีแคลอรี่สูง ทำให้คนที่ดูแลเรื่องน้ำหนักหรือกำลังลดความอ้วน หันมาบริโภคหอยมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การที่จะรับประทานหอยบิดให้ถูกสุขลักษณะนั้น จะต้องเริ่มต้นตั้งแต่การเลือกซื้อที่เน้นความสดใหม่ การเก็บรักษาที่ดี เมื่อได้หอยมาแล้วให้นำมาล้างทำความสะอาดเอาโคลนออกด้วยน้ำสะอาดให้เรียบร้อย ก่อนที่จะนำมาปรุงสุก หากผ่านกระบวนการปรุงสุกแล้ว เปลือกหอยทั้งสองฝาไม่อ้าออกจากกัน อาจจะเกิดจากหอยเน่าเสีย ให้งดรับประทาน เพื่อจะได้ไม่เกิดเป็นผลเสียต่อสุขภาพของผู้บริโภค

ส่วนเพื่อนๆ ที่ทำประมงท่านใด สบช่อง เห็นโอกาสก็สามารถจับมาขายในตลาด สร้างโอกาสสร้างรายได้เพิ่มกันได้นะครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook