สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

หอยลาย หอยสองฝาที่นิยมนำมารทำอาหาร

หอยลาย มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Undulated surf clam หรือ Venus shell  มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Paphia undulata นับว่าเป็นหอยอีกชนิดที่ได้รับการจัดเข้าไปอยู่ในกลุ่ม mollusk ที่ถูกนำเนื้อมาใช้เป็นอาหาร หอยชนิดนี้เป็นหอยสองฝาหรือหอยฝาคู่ มีเปลือกรูปทรงรี เปลือกมีความหนาแต่แบนราบ มีความยาวเปลือกประมาณ 6 เซนติเมตร ปรากฏลายสีน้ำตาลเข้มสลับเหลืองเข้มหรือสีน้ำตาลเทาตลอดบนผิวเปลือก โดยความเข้มของสีเปลือกนั้นจะเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อมของแหล่งอาศัยของหอย ก่อให้เกิดลวดลายเส้น จนเป็นที่มาของชื่อที่เราทั่วไปเรียกกันว่า”หอยลาย” ส่วนของฝาด้านในสีขาว ผิวเรียบ บานพับของฝาหอยเป็นรอยหยักซี่เล็กๆ ข้างละ 3 ซี่เกาะเกี่ยวกันอยู่ โดยหอยลายที่พบในประเทศไทยนั้นมีด้วยกันดังนี้ 1. หอยลายชนิด Paphia undulata 2.หอยลายชนิด Paphia alapapilionis และ 3.หอยลายชนิด Paphia crassisulca ซึ่งจะมีรายละเอียดของฝาและตัวหอยแตกต่างกันไป

โดยส่วนใหญ่หอยลายจะอาศัยอยู่ในโคลนใต้ทะเลบริเวณชายฝั่งที่ระยะห่างจากฝั่งไม่เกิน 3 กิโลเมตร เพราะไม่สามารถอยู่ในน้ำลึกเกิน 8 เมตรได้ โดยหอยจะอาศัยในรูใต้พื้นทรายในทะเล ในประเทศไทยเรานั้นสามารถพบเห็นหอยชนิดนี้ตามธรรมชาติในเขตทะเลฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน  เช่น จังหวัดสุราษฎร์ธานี ชลบุรี ตราด เป็นต้น

หอยลายจะอาศัยพืช สัตว์เล็ก และอินทรียวัตถุใต้ทะเลที่ถูกทับถมในโคลนเป็นอาหาร ทำให้แหล่งน้ำทะเลที่เป็นปากแม่น้ำอุดมไปด้วยซากอินทรีย์ต่างๆ จึงเป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์สำหรับการเจริญเติบโตของหอยลายตามไปด้วย การสืบพันธุ์นั้นจะสืบพันธุ์โดยการแยกเพศผู้กับเพศเมีย และวางไข่ได้ทั้งปี แต่จะสามารถวางไข่ได้ปริมาณสูงสุดในช่วงส.ค-ต.ค และ มี.ค.-พ.ค.ในแต่ละปี หอยลายที่มีความพร้อมในการสืบพันธุ์จะมีอายุราว 1 ปี มีขนาดตัวราว 3 เซนติเมตร เมื่อไข่ฟักออหมาเป็นตัวอ่อนจะลอยตัวในน้ำถึง 12 วัน ก่อนจะลงไปอาศัยอยู่ที่ท้องทรายใต้ทะเลที่มีโคลนผสมอยู่

เมื่อนำหอยลายมาปรุงอาหารนั้น มักนิยมนำมาปรุงทั้งฝาหอยและเนื้อหอย เช่น หอยลายผัดพริกแกง เป็นต้น แต่ก็มีหลายเมนูที่นำเฉพาะเนื้อหอยมาปรุงรส โดยทำการแกะออกจากฝาให้เรียบร้อยก่อนปรุง ส่วนในเชิงการค้านั้นจะมีการนำมาแปรรูปเพื่อยืดอายุการเก็บรักษาด้วยการอบแห้ง แช่แข็ง และบรรจุกระป๋อง ก่อนที่จะจัดส่งไปขายในพื้นที่ห่างไกลและการส่งออก ซึ่งนับวันปริมาณความต้องการหอยลายในตลาดจะมีสูงขึ้น ซึ่งทำให้เกิดโอกาสที่ดีแก่เพื่อนๆ เกษตรกรที่สนใจทำฟาร์มหอยลายทีเดียวครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook