สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

อาหารปลานิล ต้องมีปริมาณโปรตีนที่เหมาะสม

อาหารปลานิล ถือเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญในอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงปลานิลที่นับว่าเป็นปลาที่นิยมของตลาด มีผู้เพาะเลี้ยงกระจายไปทั่วประเทศไทย เพราะเป็นพันธุ์ปลาที่ได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมให้เลี้ยงเป็นอาชีพมานานหลายสิบปีแล้ว โดยทั้งนี้การเลี้ยงปลาชนิดนี้สามารถเลี้ยงได้ทั้งในบ่อและในกระชัง โดยผู้สนใจเลี้ยงปลานิลนั้นจะต้องมีความรู้อย่างลึกซึ้ง ตั้งแต่การเพาะพันธุ์ปลา เข้าใจลักษณะเพศ รวมถึงการวางแผนธุรกิจว่าจะเลี้ยงปลาเพื่อขายสู่ตลาดแบบไหน เพราะมีทั้งตลาดปลาทั่วไปและปลาเพื่อเป็นพ่อแม่พันธุ์

วันนี้เราจะมาชวนคุยเรื่องการเลี้ยงในกระชัง สำหรับการเพาะพันธุ์ปลานิล จะปล่อยพ่อแม่พันธุ์ปลานิลจำนวน 240 ตัวลงในกระชังที่มีขนาดกระชังกว้าง 5 เมตร ยาว 8 เมตร แบ่งเป็นปลาเพศผู้และเพศเมียอย่างละ 240 ตัว โดยช่วง 7 วันแรกจะงดให้อาหารปลานิล จนกว่าจะได้ไข่ปลาจากแม่พันธุ์ แล้วจึงจับเพศผู้แยกคนละกระชังกับเพศเมีย แล้วเริ่มให้อาหารปลาปลาดุกแบบเม็ดเล็กที่มีปริมาณโปรตีนร้อยละ 32 และให้ปริมาณอาหารร้อยละ 2 ของน้ำหนักตัวปลา

การให้อาหารปลานิลนั้นจะต้องพิจารณาถึงช่วงวัยของปลา ปริมาณโปรตีนที่มีคุณภาพของอาหาร และพลังงานที่เกิดขึ้น ลูกปลานิลเป็นช่วงวัยที่ต้องการโปรตีนสูงกว่าปลานิลที่โตแล้ว เพราะต้องการปริมาณการสร้างเนื้อและเพิ่มการเจริญเติบโตของปลาให้โตไว เพื่อจะได้ลดระยะเวลาในการเลี้ยงและลดค่าใช้จ่ายในปัจจัยการผลิตลงอีกด้วย ทั้งนี้หากต้องการผลิตปลานิลเพื่อเป็นพ่อแม่พันธุ์จะต้องจัดหาอาหารปลาที่มีโปรตีนสูงกว่าการเลี้ยงปลาเพื่อขายเป็นปลาหน้าเขียง เพราะพ่อแม่พันธุ์จะต้องทำหน้าที่ผลิตลูกปลาจำนวนมากและยังมีการวางไข่ที่สมบูรณ์และต้องวางไข่บ่อย อาหารจึงควรมีโภชนาการโปรตีนประมาณร้อยละ 32-35 เพื่อให้เป็นผลดีต่อความสมบูรณ์ของพ่อแม่พันธุ์

การให้อาหารปลานิลนั้นควรให้ครั้งละน้อยๆ แต่บ่อยๆ จะทำให้ปลานิลกินอาหารได้ดีกว่าการให้น้อยครั้ง เพราะปลานิลชอบกินอาหารบ่อยๆ ทั้งวันและกินอาหารเร็ว  โดยทยอยให้อาหารสำเร็จรูปร่วมกับอาหารธรรมชาติที่มีคุณภาพ ที่หาได้จากในพื้นที่ เช่น ปลาป่น รำข้าวหยาบ/ละเอียด  และการสร้างอาหารธรรมชาติให้ปลาหากินได้ในบ่อเช่นแพลงตอนและพรรณไม้น้ำขนาดเล็ก  ขณะเดียวกันสำหรับปลาที่อยู่ในช่วงอนุบาลราว 4-6 สัปดาห์แรกนั้นควรให้อาหารเพื่อกระตุ้นการสร้างเนื้อและพัฒนาการของปลาโดยใช้อาหารลูกกบที่มีโปรตีนร้อยละ 38 ซึ่งจะทำให้ลูกปลาโตไวขึ้น ใช้เวลาราว 4-8 สัปดาห์ปลาจะมีขนาดได้ถึง 10 เซนติเมตร

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook