สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

เกษตรทฤษฎีใหม่ คืออะไร ทำอย่างไร ใครรู้บ้าง

คงคุ้นหูกันมามากกับเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  ที่พวกเราชาวไทยน้อมนำมาปฏิบัติในชีวิตจริง แต่พอพูดถึงเกษตรทฤษฎีใหม่หลายคนอาจจะเคยผ่านหู แต่อาจจะยังไม่รู้ว่าคืออะไรกันนะครับ

เกษตรทฤษฎีใหม่ เป็นแนวทางการทำเกษตรที่พระองค์ท่านได้พระราชทาน เพื่อให้เกษตรกรนำไปวางแผนและจัดสรรที่ดินของตนเองเพื่อให้สามารถทำการเกษตรได้อย่างยั่งยืน  ตีความง่ายๆ คือเป็นการทำการเกษตรแบบครบวงจร

ขั้นแรกนั้นเน้นที่ดินกับน้ำเป็นตัวตั้งก่อน แล้วทำการปลูกพืช ทำเกษตรกรรมแบบผสมผสาน  แบ่งพื้นที่ร้อยละ 30 เป็นพื้นที่บ่อเก็บน้ำและทำการประมง อีกร้อยละ 30 ปลูกข้าว และร้อยละ 30อีกส่วนปลูกพืชไร่พืชสวนเลี้ยงเป็ด ไก่ และอีกร้อยละ 10 ของพื้นที่ใช้เพื่อปลูกสร้างบ้านพักอาศัยและโรงเรือน เพียงทำได้แค่ขั้นแรก เราก็จะมีอาหารการกินเลี้ยงตัวได้ ไม่ต้องพึ่งพาอุตสาหกรรมอื่น

ขั้นที่สองของเกษตรทฤษฎีใหม่ คือ เมื่อทำขั้นแรกสำเร็จ มีผลผลิตเหลือจากการใช้ในครัวเรือน เกษตรกรก็ต้องจัดตั้งกลุ่มเครือข่าย เพื่อแปรรูปและทำการตลาด โดยไม่ต้องฝากผ่านพ่อค้าคนกลาง ทำให้ได้รับกำไรเต็มเม็ดเต็มหน่วย ขณะเดียวกันเมื่อตั้งกลุ่มกันขึ้นมาแล้ว ก็ควรมีการแบ่งปันองค์ความรู้ระหว่างสมาชิกในกลุ่ม นำความรู้ที่ได้ไปเผยแพร่ให้เด็กเยาวชนได้เรียนรู้ต่อไป และควรมีสวัสดิการต่างๆ เพื่อหนุนวิถีชีวิตเกษตรกรให้มีคุณภาพมากขึ้นเรื่อยๆ

ขั้นที่สามคือเมื่อเกษตรกรกินดีอยู่ดีขึ้น ก็จะเริ่มมีกำลังซื้อในอุปกรณ์เครื่องมือหรือเทคโนโลยีต่างๆ ก็ต้องนำเกษตรทฤษฎีใหม่ขั้นที่สอง มาใช้เป็นเครื่องมือในการต่อรองราคาการซื้อของใช้ในชีวิตของเกษตรกร เรียกว่าใช้กลุ่มเครือข่ายที่สร้างขึ้นมาต่อรองเรื่องราคา ในแบบ เหมาโหลถูกกว่านั่นเองครับ

จะเห็นว่า การทำเกษตรนั้นต้องมีการวางแผนเป็นขั้นตอน และที่สำคัญคือการรวมกลุ่มและแบ่งปัน เหมือนกับทุกธุรกิจบนโลกใบนี้ กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว เราชาวเกษตรกรก็ควรจะต้องคิดพิมพ์เขียวในการทำการเกษตรของเราให้ยั่งยืน โดยการยึด “เกษตรทฤษฎีใหม่” เป็นแนวเข็มทิศในการดำเนินธุรกิจ

การทำเกษตรแบบนี้ จะทำให้เรามีแหล่งทรัพยากรที่สำคัญที่เราควบคุมเองได้ ไม่ต้องพึ่งพิงกับภูมิอากาศหรือสิ่งแวดล้อมจนเกิดไป ในวันที่ฝนฟ้าไม่เป็นใจ เราก็ยังมีบ่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ หากปีไหนแล้งจัด เราก็สามารถงดเพาะปลูกพืชที่ต้องการน้ำ ไปปลูกพืชที่ทนแล้งได้ ชีวิตเกษตรกรรุ่นใหม่ ต้องใส่ใจวางแผนอย่างดี เพื่อที่เราจะได้มั่งคั่งและไม่ต้องพึ่งพาอุตสาหกรรมอื่นมากนัก

เพราะผมเชื่อมั่นว่า เกษตรเป็นอาชีพที่ได้ประโยชน์จากธรรมชาติที่สุด และเป็นอาชีพที่อนุรักษ์ธรรมชาติที่สุดได้ด้วย

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook