สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

เครื่องสีข้าวขนาดเล็ก เลือกอย่างไรดีหนอ

เครื่องสีข้าวขนาดเล็ก เป็นเครื่องจักรกลการเกษตรที่ถูกพัฒนามาเรื่อย ๆ หากย้อนเวลากลับไปสักประมาณสิบกว่าปีก่อน  เราไปพูดคุยสอบถามกับเพื่อนเกษตรกร เกี่ยวกับ เครื่องสีข้าวขนาดเล็กสำหรับใช้ในครัวเรือน เชื่อว่าจะไม่ค่อยมีใครสนใจนัก เพราะในสมัยก่อนเครื่องสีข้าวขนาดเล็กเป็นเรื่องไกลตัว มีราคาแพงเป็นหลักแสน ไม่ค่อยจำเป็น และยังใช้งานยุ่งยาก แถมยังมีประสิทธิภาพในการทำงานที่ต่ำ ต่างจากปัจจุบัน ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้เครื่องสีข้าวขนาดเล็กได้รับการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ใช้งานง่าย ใช้ประโยชน์ได้หลายอย่างมากขึ้น นอกจากสีข้าวแล้วยังสามารถ โม่ บด สับ ผลผลิตการเกษตรตัวอื่นได้อีกด้วย และราคายังถูกลงมามาก อยู่ในระดับไม่เกินสองหมื่นบาทเท่านั้น

นอกจากนี้ ผลจากการที่ภาครัฐ ให้ความสำคัญ อย่างเอาจริงเอาจัง กับนโยบายเกษตร 4.0 ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ รวมไปถึงพี่น้องในชนบท ได้มีโอกาสเรียนรู้ เข้าถึงข้อมูลข่าวสารความรู้ใหม่ๆ มากขึ้น ผ่านการใช้แอพและสื่อโซเชียลต่างๆ จนทำให้พวกเรามีความทันสมัย มีองค์ความรู้ มีวิธีคิดแบบใหม่ มองเห็นโอกาสมากกว่าแต่ก่อน จึงเริ่มคิดที่จะปลูกเอง ขายเอง กันมากขึ้น ทำให้พวกเราเริ่มหันมาสนใจ เครื่องสีข้าวขนาดเล็กกันมากยิ่งขึ้น ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา

ดังนั้น ผมจึงคิดว่าเราน่าจะมาลองทำความรู้จักเบื้องต้นเกี่ยวกับเครื่องสีข้าวขนาดเล็กกันดูครับเครื่องสีข้าวขนาดเล็ก คือเครื่องสีข้าวสารที่มีกำลังในการสีข้าวเปลือกไม่เกิน 120 กิโลกรัมต่อชั่วโมง เทียบง่ายๆ คือ ข้าวเปลือก 1 ตัน ใช้เวลาสี 8 ชั่วโมงโดยประมาณ  ก็เท่ากับสีข้าวได้ 1 ตัน ต่อ 1 วันทำงานครับ

ส่วนราคาในท้องตลาดทั่วไปนั้น อยู่ในช่วงประมาณ 10,00  ถึง 20,000 บาท พร้อมการจัดส่งติดตั้งสอนวิธีใช้งานให้ถึงที่บ้าน ราคาที่แตกต่างกันก็ขึ้นอยู่กับยี่ห้อ  ความหลากหลายในการใช้งาน เช่น สีข้าวอย่างเดียว หรือ โม่ บด ผลผลิตอื่นๆ ได้ด้วย เช่น โม่ถั่ว โม่แป้ง บดพริก บดมันสาย  เป็นต้น

ลักษณะการทำงานของ เครื่องสีข้าวขนาดเล็ก โดยทั่วไปก็เหมือนกันทุกยี่ห้อ คือ สีข้าวเปลือกออกมาเป็นข้าวสาร ได้ทันที โดยมีช่องแยก แกลบ รำ รวมกันออกมาช่องหนึ่ง ส่วน ข้าวสารที่ได้ออกมา ก็ไหลผ่านตะแกรงเหล็กที่มีรูเล็กๆ เพื่อกรอง ปลายข้าว ข้าวหัก ข้าวท่อนเล็ก ให้แยกออกไปอีกช่องหนึ่งสามารถปรับระดับความขาว ของข้าวสารได้หลายระดับ อันนี้เป็นการทำงานทั่วไปเหมือนกันหมด

แต่ลักษณะที่ดีที่แตกต่างกันของเครื่องสีข้าวขนาดเล็กที่บางยี่ห้อมีและบางยี่ห้อไม่มี ซึ่งก็มีผลทำให้ราคาต่างกัน มีลักษณะดังนี้คือ มีพัดลมดูดจับ เศษวัชพืช เศษหญ้าฟาง ที่ปนมากับข้าวเปลือก เพื่อป้องกันไม่ให้เศษปะปนออกมากับข้าวสารที่สีได้ เพื่อไม่ต้องเสียเวลาไปร่อนมือเก็บเศษวัชพืชออก  และควรมีตะแกรงเหล็กขนาดใหญ่ รองรับข้าวสารที่ออกมา จะได้กรองปลายข้าว และ ข้าวสารหักได้ทั่วถึงมากขึ้น  อีกทั้งจะต้องสามารถสีข้าวเปลือกได้ทุกชนิดทุกพันธุ์  และควรทำงานได้มากกว่าการสีข้าวอย่างเดียว เช่น โม่ บด สับ ได้เป็นต้น  และอย่าลืมพิจารณาเรื่องการเสียบปลั๊กใช้งานกับไฟฟ้าของบ้านได้โดยตรง และที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ตัวเครื่องสีและโครงสร้างต้องมั่นคง แน่นหนา ขณะทำงาน ไม่โยกคลอน  สั่นสะเทือน จนข้าวสารที่ออกมากระเด็นตกพื้นเรี่ยราด  และเพื่อเห็นภาพมากขึ้น เพื่อนๆ เกษตรกรก็สามารถดูตัวอย่างการทำงานจากคลิปวิดีโอในโลกออนไลน์  ซึ่งแสดงการทำงาน ของเครื่องยี่ห้อต่างๆ เอาไว้มากมายเลยครับ

ส่วนประเด็นปัญหาที่ผมเจอ ซึ่งเพื่อนๆเกษตรกรส่วนใหญ่น่าจะเจอเหมือนกันคือ เรื่องของตัวสินค้าและยี่ห้อสินค้าที่มีให้เลือกมากมาย เกินกว่า 10 ยี่ห้อ ราคาก็แตกต่างกัน ตั้งแต่ หลักพันจนถึง หลายพันบาท พูดตรงๆ บางทีก็เลือกไม่ถูก รักพี่เสียดายน้อง แล้วที่สำคัญคือ กลัวว่าจะเจอพวกสวยแต่รูป จูบไม่หอม ตัวเครื่องดูดีสวยงาม แต่ซื้อไปใช้แล้วก็ไม่ทนทาน พังง่าย สีข้าวออกมาเมล็ดข้าวไม่สวย แตกหักเยอะ เป็นต้น

ดังนั้นหลักในการเลือกซื้อ ที่ผมอยากจะฝากเอาไว้ ซึ่งเห็นว่ามีประโยชน์มากคือ วิธีการใช้สื่อโซเชียล ให้เป็นประโยชน์  เริ่มจากเลือกดูค้นหา เฉพาะสินค้า ยี่ห้อดังที่ทำตลาดมาแล้วหลายๆ ปี คนนิยมใช้กันมาก จากนั้นดูคุณสมบัติที่ดีตามที่ผมให้ข้อมูลไปโดยดูได้จากคลิปวิดีโอแสดงการใช้งานจริง ยี่ห้อไหนมีคุณสมบัติครบก็เลือกไว้ จากนั้นก็ไปหาข้อมูลถามความเห็นจากคนเคยที่ซื้อไปแล้ว ใช้งานอยู่จริงจากโซเชียลมีเดียต่างๆ เมื่อได้ยี่ห้อในดวงใจ ก็ไปดูของจริงที่ร้านค้า หรือตัวแทนจำหน่าย ที่อยู่ในท้องถิ่นของเรา โดยไม่ต้องเชื่อฟังคำแนะนำจากคนขายอีก เพราะเราเลือกยี่ห้อในใจมาแล้ว อย่าไปไขว่เขว เพราะ ราคาถูกอย่างเดียว เพราะเสี่ยงที่จะเจ็บใจเอาภายหลัง  และสำหรับสินค้าบางอย่างที่มีน้ำหนักมาก ต้องมีการบริการหลังการขาย เราไม่ควรซื้อผ่านร้านค้าออนไลน์นะครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook