สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

เชื้อราเมธาไรเซียม หรือราเขียว

เชื้อราเมธาไรเซียม หรือที่เรามักเรียกกันง่ายๆ ว่าราเขียวนั้น คือ สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่แทบจะไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่าหรือที่เรียกกันว่าจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในดิน ซึ่งเป็นเชื้อที่ก่อโรคให้แก่แมลงที่คอยรบกวนพืช ทำหน้าที่เป็นปรสิต  ช่วยทำลายแมลงต่างๆ ที่เป็นศัตรูพืชในทุกช่วงวัยโดยเฉพาะแมลงที่ใช้ปากดูด ทั้งหนอน ด้วง ปลวก ไร และเพลี้ย โดยกระบวนการจู่โจมแมลงนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อสปอร์ของราเขียวร่วงหล่นหรือลอยไปเกาะที่ผิวหนังหรือส่วนต่างๆ ของแมลงแล้วจะผลิตเอนไซม์ที่สามารถย่อยสลายไคติน ทำให้สปอร์สามารถงอกเข้าไปในลำตัวแมลง ดูดกินอาหารภายในตัวแมลง และเข้าทำลายเนื้อเยื่อภายในแมลงจนเกิดความเสียหาย เมื่อสปอร์เจริญขึ้นจึงแพร่เชื้อได้มากขึ้นจนทำให้แมลงเหล่านั้นตายลงไป ในสภาพที่ซากของแมลงจะมีเชื้อราสีเขียวห่อหุ้มไว้ภายนอก สภาพซากของแมลงแน่นิ่ง แข็ง แห้ง นอกจากนี้เชื้อราที่อยู่ภายนอกนั้นจะยังสามารถเติบโต และปล่อยให้สปอร์ล่องลอยไปในอากาศและเม็ดฝนเพื่อแพร่เชื้อไปยังแมลงที่ยังมีชีวิตอยู่ต่อไป

ความรุนแรงในการกำจัดแมลงศัตรูพืชของเชื้อราเมธาไรเซียมนั้นขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและความชื้นของสภาพแวดล้อม เชื้อจะเข้าทำลายได้เร็วหากอยู่ในสภาพที่มีความชื้นสูงกว่าร้อยละ 80 และมีสภาพอากาศระหว่าง 25-30 องศาเซลเซียส และยังต้องพิจารณาถึงภูมิคุ้มกันของแมลงแต่ละชนิดด้วย อย่างไรก็ตามจุลินทรีย์ชนิดนี้ ได้รับความสนใจในการนำมาใช้งานเพื่อควบคุมแมลง เพราะไม่ทำให้เกิดสารพิษตกค้างในพืชผักและสภาพแวดล้อม รวมไปถึงมีความปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภคมากขึ้นด้วย

โดยทั่วไปแล้วนั้นการจะใช้เชื้อราเมธาไรเซียมให้เกิดผลมากที่สุดนั้น ควรเลือกใช้ในช่วงเวลาเย็นที่ไม่มีแสงแดดแล้ว และควรรดน้ำในแปลงปลูกให้ทั่วถึง เพื่อให้เกิดความชื้นในอากาศมากขึ้น ทั้งนี้ควรเป็นช่วงเวลาที่ยังสามารถมองเห็นตัวแมลงได้ง่าย เพื่อที่เราจะได้ฉีดพ่นได้ตรงจุด ทำให้แมลงได้รับเชื้อในทันที ให้สังเกตบริเวณท้องใบของพืชที่แมลงมักจะหลบซ่อนตัวอยู่ หลังจากฉีดพ่นแล้วในวันถัดไปควรเข้าสังเกตการณ์จำนวนแมลงว่าลดน้อยลงหรือไม่ และให้ทำการฉีดพ่นซ้ำโดยเว้นระยะราว 5-7 วัน อย่างไรก็ตาม การนำเชื้อราเมธาไรเซียมไปใช้ประโยชน์เพื่อกำจัดแมลงที่แตกต่างกัน ในแปลงเกษตรที่มีพืชผลแตกต่างกัน จะต้องเข้าใจวิธีการนำไปใช้อย่างละเอียดถี่ถ้วน เช่น การนำไปใช้ประโยชน์ในการควบคุมด้วงแรดมะพร้าว จะใช้เชื้อราเขียวคลุกกับกองล่อที่นำทางมะพร้าวหรือซากใบไม้แห้งที่มีความชื้นสูงมากองล่อหนอนด้วงไว้ ส่วนแมลงบางชนิดอาจจะใช้วิธีฉีดพ่น เป็นต้น

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook