สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

เชื้อราไตรโคเดอร์มา จุลินทรีย์มหัศจรรย์

เชื้อราไตรโคเดอร์มา คือจุลินทรีย์ประเภทเชื้อราที่สามารถพบได้ในอินทรียวัตถุและในรากของพืช รวมไปถึงเศษซากต่างๆในดิน ทั้งซากสัตว์และซากพืช ถือเป็นเชื้อราปฏิปักษ์ที่นำมาใช้ประโยชน์ในการป้องกันโรคในพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรครากและโคนเน่าในไม้ผล โรคกล้วยตายพราย โรคโคนและกล้าเน่าในพืชไร่ โรคใบไหม้ใบด่างใบแห้งในต้นข้าว เป็นต้น ซึ่งสาวนใหญ่เป็นโรคที่มาจากทางดิน ซึ่งการนำเชื้อราไตรโคเดอร์มามากำจัดโรคพืชเป็นวิธีการที่ช่วยให้เพื่อนๆ เกษตรกรลดค่าใช้จ่ายในการใช้สารเคมีลง และยังช่วยให้เกิดความปลอดภัยต่อสุขภาพของเราอีกด้วย

กลไกการทำงานของเชื้อรามหัศจรรย์ชนิดนี้ เกิดจากความสามารถในการสร้างสปอร์ได้อย่างรวดเร็วและในปริมาณมากจึงสามารถเบียดเบียนเชื้อโรคที่ก่อกวนพืชได้  มีความสามารถในการปรับตัวให้เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อม เติบโตในในทุกสภาวะ แข็งแรง สู้สารเคมีต่างๆได้ สร้างสารปฏิชีวนะได้เองนับ 100 ชนิด ทำให้ยับยั้งการเติบโตของเส้นใยจากเชื้อโรคพืช และประโยชน์ที่สำคัญนอกเหนือจากการใช้เพื่อกำจัดโรคพืชแล้ว เรายังสามารถใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาเร่งให้พืชรากพืชแข็งแรงได้เร็วขึ้น จนสามารถดูดซับธาตุอาหารต่างๆ ในดินแล้วนำไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของพืช จนก่อให้เกิดดอก ผล ได้รวดเร็วและสมบูรณ์มากขึ้นด้วย

ด้วยคุณสมบัติที่ดีเด่นของเชื้อราไตรโคเดอร์มาทำให้เกิดการผลิตเป็นเชิงการค้าออกสู่ตลาดจำนวนมาก ทั้งที่จริงแล้ว เพื่อนๆ เกษตรกรเองก็สามารถผลิตได้เอง เพียงแค่มีหัวเชื้อและปลายข้าว ก็สามารถขยายพันธุ์ไว้ใช้กันเองได้ครับ เริ่มจากการหาซื้อหัวเชื้อบริสุทธิ์จากแหล่งที่เชื่อถือได้หรือจะจะติดต่อไปที่กรมส่งเสริมการเกษตรก็ได้นะครับ แล้วนำมาขยายพันธุ์โดยการใช้ปลายข้าว  600 กรัม หุงในน้ำเปล่า 500 มิลลิลิตร เมื่อข้าวสุกให้แบ่งใส่ถุงแกงให้ได้ 4 ถุง พับปากถุงรอให้ปลายข้าวที่หุงสุกเย็นตัวลงแล้วหยดหัวเชื้อราไตรโคเดอร์มา ประมาณ 1.25 กรัมต่อถุง แล้วมัดปลายสุดของถุงให้แน่นแล้วขยำให้ปลายข้าวและหัวเชื้อเข้ากันได้ดี แล้วเจาะรูเล็กๆ บริเวณใกล้ๆปากถุงด้วยเข็ม ประมาณ 20 รู แล้วตบถุงให้แบน บ่มทิ้งไว้ในที่โล่ง ไม่มีแดด ไม่มีแมลง หลังจากนั้นเมื่อครบ 48 ชั่วโมงให้ทำการขยำถุงซ้ำอีกครั้ง แล้วบ่มต่ออีก 5 วัน ก็จะได้เชื้อราไตรโคเดอร์มาสดมาไว้ใช้ประโยชน์ไม่ว่าจะนำไปผสมกับปุ๋ยอินทรีย์  คลุกเมล็ด  หรือนำไปฉีดพ่น ก็ตามแต่ละสูตรที่เหมาะสมกับพืชผลกันได้เลยครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook