สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

เตยหอม กลางนา พืชน่าสน

เตยหอม เป็นพืชเขตร้อน พบได้ทั่วไปในประเทศในเขตเอเชียใต้และเอเชียอาคเนย์ เป็นพืชที่นำมาปรุงแต่งกลิ่นในเมนูอาหารต่าง ๆ ทั้งอาหารคาวอย่าง ไก่ห่อใบเตย หมูคั่วใบเตย หรือของหวานสารพัดชนิดที่ต้องมีใบเตยเป็นวัตถุดิบ รวมไปถึงขนมอบแบบฝรั่งก็ยังต้องมีกลิ่นเตยหอมผสม

นอกจากกลิ่นหอมแล้ว สรรพคุณของใบเตยก็ไม่ธรรมดาเลยครับ เพราะเตยหอมมีสรรพคุณลดความดันโลหิต ลดอาการวิงเวียนศีรษะ ป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง สารสกัดจากใบเตยหอมยังช่วยลดระดับน้ำตาลในเส้นเลือด แก้อาการตะคริวได้อย่างดี ใช้แก้อาการปวดข้อ ลดอาการปวดเกร็งในช่องท้อง ป้องกันอาการของโรคเกาต์ ช่วยลดระดับกรดยูริกในร่างกาย ขจัดนิ่วในไต และยังมีเบต้าแคโรทีนสูง ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ชะลอวัยได้อีกด้วย ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมจึงได้รับความนิยมกันมาก

เตยหอมเป็นไม้ทรงพุ่ม ยืนต้น ใบเรียวยาวคล้ายใบดาบหรือทางมะพร้าวกว้าง มีสีเขียวเข้มเต็มไปด้วยคลอโรฟิลล์ มีกลิ่นหอมอ่อนๆ จากน้ำมันระเหยในใบ ลำต้นสูงไม่เกิน 3 เมตร เจริญเติบโตได้ดีในที่ลุ่มชุ่มน้ำ ไม่ทนต่อสภาพแห้งแล้ง การขยายพันธุ์จะใช้การขยายพันธุ์จากหน่อพันธุ์ ใช้เวลาไม่เกิน 6 เดือนหลังจากการปลูกก็สามารถเก็บเกี่ยวได้ เพื่อนๆ เกษตรกรบางคนก็ปรับเอาที่นาของตนเองมาทำเป็นแปลงปลูกเตยหอมเพราะขังน้ำได้ และให้ผลผลิตดีกว่าข้าว มีตลาดรองรับสูง

แต่การปลูกเตยหอมในเชิงการค้านั้น เราต้องให้ความใส่ใจมากกว่าการปลูกเพื่อใช้ในครัวในบ้าน จึงต้องวางแผนเรื่องเงินทุนเผื่อกันไว้ด้วย เพราะต้องมีการปลูกโรงเรือนไว้พรางแสง เพื่อให้ใบเตยหอมเขียวเข้มเต็มที่และทำราคาได้ และยังต้องมีการวางระบบน้ำ ทั้งท่อน้ำและท่อระบายน้ำของแปลงปลูกแต่ละแปลงเพื่อให้เกิดการผันน้ำและหมุนเวียนน้ำอย่างเหมาะสม ยิ่งนำหมุนเวียนดีคุณภาพของใบเตยหอมก็ยิ่งดีตามไปด้วย เทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ในการเลือกหน่อพันธุ์มาปลูกจะแตกต่างจากพืชประเภทอื่นที่เราจะเน้นหน่อพันธุ์ที่สมบูรณ์เท่านั้น แต่เตยหอมกลับต้องใช้หน่อพันธุ์ที่ไม่สมบูรณ์เท่าไร พอเรานำมาลงดินที่ปรับธาตุอาหารอย่างดีแล้ว หนอพันธุ์จะได้ดูดซึมธาตุอาหารจากดินเต็มที่และเจริญเติบโตได้เร็วขึ้น

การปล่อยน้ำเข้าแปลงปลูก จะต้องรักษาระดับไม่ให้น้ำสูงเกินกว่า โคนต้น หรือความสูงจากดินราวๆ 10 เซนติเมตร สแลนที่ใช้ก็ควรมีความโปร่งแสงปานกลาง ไม่ให้ทึบเกินไป เพียงแคนี้ก็ได้ใบเตยหอมสวยๆภายใน 6 เดือน และยังสามารถเก็บเกี่ยวต่อเนื่องได้ทุกเดือนไปอีกหลายปี นับว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่น่าสนใจไม่น้อยเลยครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook