สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

เทพทาโร ไม้หอม ไม้เศรษฐกิจ

เทพทาโร ไม้หอมที่ออกเสียงอ่านว่า “เทพ พะ ทา โร” เป็นไม้ในวงศ์เดียวกันกับอบเชย ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยเราเรียกชื่อว่า ตะไคร้ต้น ส่วนทางเหนือเรียกว่า จะไค้ต้นหรือจะไค้หอม บ้างก็เรียกว่าพลูต้นขาวก็มี แม้ว่าจะเป็นไม้เศรษฐกิจที่เป็นแหล่งของน้ำมันหอมระเหยและเนื้อไม้ถูกนำมาใช้ประดิษฐ์และแกะสลักเป็นของตกแต่งบ้านที่เลอค่า แต่เป็นไม้ในป่าตามธรรมชาติ ทำให้เป็นไม้ที่หายากจนคนรุ่นหลังอาจไม่ค่อยรู้จักกันมากนัก

ในยุคอดีตนั้นเนื้อไม้จากต้นเทพทาโรถูกนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเป็นเครื่องหอม ใช้ประกอบเป็นเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ รวมทั้งของตกแต่งบ้านทั้งขนาดเล็กขนาดใหญ่ ตั้งแต่กรอบรูปไปจนถึงตู้ ตั่ง หีบเก็บของ เพราะมีกลิ่นเฉพาะตัวทำให้แมลงต่างๆ ไม่กล้าเข้าไปกัดกิน ในสรรพคุณทางสมุนไพร หมอพื้นบ้านได้ใช้เนื้อไม้มาผสมกับตัวสมุนไพรต่างๆ เข้าตำรับเป็นยาหอมแก้จุกเสียดแน่นท้อง บรรเทาอาการหน้ามืดเวียนศีรษะ และสำหรับสตรีที่เลือดลมไม่ปกติสามารถใช้รับประทานเพื่อบำรุงเลือดได้ ยอดอ่อนนำมาตากแห้งเป็นใบชา ชงในน้ำร้อนดื่มบำรุงธาตุในร่างกาย น้ำมันที่ได้จากผลเทพทาไรนำมาใช้แทนน้ำมันนวด ทาบริเวณที่มีแมลงกัด เป็นต้น จนกระทั่งปัจจุบันยังได้นำเศษไม้ไปสกัดน้ำมันหอมระเหยเพื่อใช้เป็นส่วนผสมในยาหม่องน้ำ และสมุนไพรทาคลายเมื่อยต่างๆ และยังนำมาผลิตเป็นธูปหอมและกำยานเพื่อจุดบูชาพระหรือจุดให้กลิ่นหอมหรือทำกลิ่นบำบัดในสปาอีกด้วย

เทพทาโรเป็นไม้ที่มีลำต้นสูงถึง 20-30 เมตร มีทั้งแบบเรือนยอดทึบและโปร่ง เปลือกของลำต้นมีสีเทา มันวาว ผิวแตกเป็นร่อง ภายในเปลือกไม้มีสีน้ำตาลแดง เนื้อไม้เป็นไม้เนื้อแข็งปานกลาง มีความเหนียว ยืดหยุ่นดี ขัดเงาได้ง่าย ทุกส่วนของต้นเทพทาโรมีกลิ่นหอมตั้งแต่ราก ใบ เนื้อไม้ ดอก ผล ลักษณะของใบเป็นสีเขียวรูปทรงรี ขอบขนาน ปลายใบแหลม ใบหนา มัน ผลิดอกสีขาวครีมเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ประกอบด้วยดอกย่อยขนาดเล็กจำนวน 12-14 ดอก ให้ผลเป็นทรงกลม ผลเล็กมีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่ถึง 1 เซนติเมตร ผลสีเขียว และจะกลายเป็นสีม่วงดำเมื่อสุกเต็มที่ สามารถขยายพันธุ์ได้ตามธรรมชาติ ในสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย อาจจะเกิดจากผลแก่ที่ร่วงหล่อนจากต้น และเมล็ดเกิดการงอกในพื้นที่ใกล้เคียงกับโคนต้น หรือสัตว์ต่างๆจะกินผลแก่และนำเอาเมล็ดในผลไปทิ้งไว้ในดินที่เอื้อต่อการงอกที่อยู่ห่างไกลออกไป และอาจจะเกิดการแตกต้นอ่อนแบบไม่อาศัยเพศของต้นไม้ชนิดนี้เองได้ด้วย แต่นับวันต้นไม้ชนิดนี้ก็หายากขึ้นทุกที ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะมาช่วยกันปลูกและอนุรักษ์ไว้ให้คนรุ่นหลังได้รู้จักกันต่อไป

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook