สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

เผือก พืชหัวเส้นใยสูง ปลูกได้ในที่ดอน

เผือกเป็นพืชหัว ที่เป็นพืชเศรษฐกิจท้องถิ่นของประเทศไทย ด้วยกลิ่นหอมและรสชาติที่ดีของหัวเผือกจึงได้รับการยอมรับจากตลาดอย่างกว้างขวาง แหล่งปลูกเผือกในบ้านเรามีกระจายไปทั่วทุกภาคของประเทศที่มีน้ำเพียงพอ ทั้งที่ลุ่มและที่ดอน ลักษณะลำต้นจะอยู่ใต้ดินเป็นส่วนสะสมอาหาร เมื่อขยายตัวจะกลายเป็นหัว และมีรากที่ค่อยๆ พองโตขึ้นกลายเป็นหัวเล็กๆ เรียกกันว่า “ลูกเผือก” ช่วยสะสมความชุ่มชื้นและธาตุอาหาร ใบมีลักษณะคล้ายใบบอน ให้ดอกเป็นช่อสีขาวครีมหรือเหลืองอ่อน โดยพันธุ์ที่มีในประเทศไทยเรานั้นไม่ค่อยจะผลิดอก

พันธุ์เผือกที่ปลูกในไทยเราสามารถขยายพันธุ์ได้ทั้งแบบเพาะเมล็ด ซึ่งเป็นวิธีที่ง่าย แต่หาเมล็ดพันธุ์ยากและยังใช้เวลาเพาะนาน จึงไม่เป็นที่นิยมนัก วิธีที่นิยมที่สุดคือการใช้หัวพันธุ์หรือลูกเผือกที่มีขนาดพอเหมาะ และมีขนาดเท่าๆกัน มาทำการเพาะปลูกในรุ่นเดียวกัน เพื่อจะได้เก็บเกี่ยวผลผลิตในเวลาใกล้เคียงกันและได้ขนาดที่ใกล้เคียงด้วย ซึ่งทำให้การบริหารจัดการหลังเก็บเกี่ยวทำได้ง่ายขึ้น

ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปลูกเผือกที่สุดสำหรับที่ดอน คือช่วงต้นฝน  โดยเราต้องเตรียมดินก่อนการปลูกประมาณ 1-2 เดือน ด้วยการไถดะให้ลึกแล้วตากดินทิ้งไว้ประมาณ 2 สัปดาห์ ปรับสภาพดินด้วยปูนขาวและปุ๋ยคอก แล้วจึงไถแปรเพื่อย่อยดินให้ละเอียดขึ้น แล้วเตรียมหลุมกว้าง 30 เซนติเมตร ลึก 30 เซนติเมตร ใส่ปุ๋ยคอกรองก้นหลุมให้พร้อม นำหัวพันธุ์ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 เซนติเมตรฝังในหลุมเพื่อเตรียมพันธุ์

การปลูกเผือก จะยกร่อง โดยมีระยะห่างของร่อง 1 เมตร แล้วลงหัวเผือก แล้วกลบด้วยดิน คลุมด้วยหญ้าแห้งหรือฟาง เมื่อเผือกเริ่มโตต้องพูนโคนอย่างสม่ำเสมอ รดน้ำด้วยสายยางหรือสปริงเก้อร์อย่างต่อเนื่อง เพราะเผือกจะสมบูรณ์หากได้น้ำเพียงพอ  และต้องหมั่นกำจัดหญ้าวัชพืช ประมาณไม่เกิน 6 เดือน เมื่อใบเผือกเล็กลงและใบใกล้โคนมีสีเหลือง ก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ โดยต้องเว้นการให้น้ำอย่างน้อย 3 สัปดาห์ก่อนเก็บเกี่ยวเพื่อจะได้ยืดอายุการเก็บรักษาผลผลิตได้นานขึ้น และการขุดเผือกต้องระมัดระวังไม่ให้หัวเผือกเกิดบาดแผลหรือโดนกระแทก

การเก็บรักษาหัวเผือกที่เก็บเกี่ยวแล้ว ให้ตัดใบและรากออก โดยไม่จำเป็นต้องล้างดินออก ควรเก็บในที่ที่มีลมโกรก เย็น อากาศระบายดี แล้วทำการคัดขนาดแล้วแยกใส่ถุงพลาสติกที่มีรูระบายอากาศหรือลังพลาสติก ไม่ควรกองสุมกันไว้เพราะจะทำให้เกิดความเสียหายได้ครับ หรือสำหรับเพื่อนๆ เกษตรกรที่จะเก็บรักษาแบบแห้งก็สามารถปอกเปลือกและหั่นเป็นแผ่นบางตากให้แห้งเก็บไว้รับประทานได้นานขึ้นครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook