สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

หอยแมลงภู่ กับการเพาะเลี้ยงที่ต้องฝากชีวิตไว้กับธรรมชาติ 100%

หอยแมลงภู่ คือหอยทะเลที่เป็นอาหารยอดนิยมอีกชนิดหนึ่ง ที่มีราคาย่อมเยากว่าหอยทะเลชนิดอื่นอย่างหอยแครงหรือหอยนางรม เนื่องจากในประเทศไทยยังเพาะเลี้ยงหอยแมลงภู่ได้ในปริมาณมาก ทำให้มีหอยป้อนเข้าสู่ตลาดได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งแบบหอยสด หรือหอยแปรรูป นอกจากนี้การเพาะเลี้ยงหอยแมลงภู่นั้นยังมีต้นทุนที่ต่ำมาก มีเพียงต้นทุนค่าเครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ เพื่อสร้างที่ยึดเกาะให้กับลูกหอยอาศัยเท่านั้น ส่วนลูกพันธุ์หอยแมลงภู่นั้น ผู้เลี้ยงไม่จำเป็นต้องลงทุนซื้อเพราะลูกหอยในธรรมชาติยังอุดมสมบูรณ์อยู่มาก ต่างจากการเพาะเลี้ยงหอยแครง และหอยนางรม ที่จำเป็นเป็นต้องลงทุนหาซื้อลูกพันธุ์หอยมาเพาะเลี้ยงเอง เนื่องจากปริมาณลูกหอยในธรรมชาติของหอยทั้งสองชนิดนี้หายาก และขาดแคลนมาก

หอยแมลงภู่ มีการเพาะเลี้ยงกระจายอยู่ทั่วไปแทบทุกจังหวัดที่ติดชายทะเล ทั้งอ่าวไทยและอันดามัน โดยจังหวัดที่นิยมเลี้ยงกันมาก เช่น ชลบุรี สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ชุมพรประจวบคีรีขันธ์ ปัตตานี ส่วนวิธีการเพาะเลี้ยงที่นิยมกันมากมี 2 วิธี ตามความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ของตน ได้แก่ การเลี้ยงแบบปักหลักไม้ให้ลูกหอยเกาะ เหมาะกับเขตน้ำตื้นความลึก 4-6 เมตร พื้นดินเป็นโคลนหรือโคลนปนทราย ไม้ที่ใช้ปักหลัก ส่วนใหญ่เป็นไม้ไผ่รวก ไผ่นวล เส้นผ่าศูนย์กลาง3-5 เซนติเมตร ยาว 5-6 เมตร โดยปักหลักไม้ให้ลึก 1-1.5 เมตร เรียงกันเป็นแถว ทำมุมเอียง60 องศา เพื่อช่วยลดการหักโค่น ส่วนวิธีต่อมาคือ การเลี้ยงแบบแพเชือก เหมาะกับการเลี้ยงในบริเวณที่เป็นดินแข็ง ปักไม้หลักไม่ได้ หรือมีคลื่นลมแรง โดยทุ่นแพทำจากถัง 200 ลิตร ลอยเป็นทุ่นแพ แต่ละถังมีเชือกผูกโยงกันเป็นแถวเป็นแนว มีสมอวางกันคลื่นซัดหายไป

ในปัจจุบันสถานการณ์การเลี้ยงหอยแมลงภู่ ยังนับว่าดีกว่าการเลี้ยงหอยแครงและหอยนางรมอยู่มาก เพราะเกษตรกรยังไม่ถึงขั้นต้องลงทุนเสียเงินซื้อลูกพันธุ์หอยแมลงภู่กัน แต่ปัญหาใหญ่ที่ผู้เลี้ยงหอยทะเลทุกคนต้องเจออยู่นั้นน่าวิตกกังวลมากกว่า และจะกลายเป็นปัญหาที่ยิ่งใหญ่ต่อไปในอนาคตนั่นคือ ปัญหาเรื่องความอุดมสมบูรณ์ของบรรดาแพลงตอนพืชและสัตว์ขนาดเล็ก ซึ่งเป็นแหล่งอาหารสำคัญของการเลี้ยงหอยในทะเลได้ลดลงอย่างต่อเนื่องและเจือจางไปมากจากกระแสน้ำทะเล เห็นได้ชัดจากขนาดตัวของหอยแมลงภู่ ที่มีอายุ 8-9 เดือน ที่ส่งป้อนเข้าสู่ตลาดทุกวันนี้ เริ่มมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับในอดีต ในขณะที่ราคาหอยทะเลต่างๆ ก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นอยู่ตลอด เพราะผลผลิตหายากขึ้น และมีต้นทุนสูงขึ้นซึ่งปัญหาเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ทรัพยากรทางทะเลบ้านเราอาจเข้าสู่ภาวะวิกฤตในอีกไม่ช้า ถ้าหากเรายังไม่ตื่นตัวกัน ในเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้มากกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook