สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช

การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ คือวิธีขยายพันธุ์พืชอีกวิธีหนึ่งที่เพื่อนๆ เกษตรกรคงเคยได้ยินผ่านหูผ่านตามาบ้าง แต่ส่วนใหญ่อาจไม่ค่อยสนใจกันมากนัก เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องไกลตัว เนื่องจากวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อของพืชนั้นดูเหมือนกับเป็นวิธีขยายพันธุ์พืชแบบวิทยาศาสตร์เต็มตัว ซึ่งมีขั้นตอนที่ยุ่งยากสลับซับซ้อน เพราะต้องคอยกำหนดควบคุมปัจจัยสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่อยู่รอบตัวให้ได้มากที่สุด จึงต้องมีความรู้ในด้านวิทยาศาสตร์อีกด้วย  ไม่เหมือนกับวิธีขยายพันธุ์พืชโดยทั่วไป เช่น ปักชำ ติดตา ตอนกิ่ง หรือเสียบยอด ที่แม้จะเป็นวิธีวิทยาศาสตร์เหมือนกันแต่วิธีเหล่านี้ทำได้ง่ายกว่า

แต่ทราบหรือไม่ครับว่าการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ที่มีความยากลำบากในการปฏิบัติงานนี้เอง ที่เป็นรากฐานสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความเจริญก้าวหน้าและความสำเร็จในการปรับปรุงพัฒนาสายพันธุ์พืชชนิดใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา และสร้างคุณประโยชน์อย่างมหาศาลให้กับแวดวงการเกษตร ไม่ว่าจะเป็น การปรับปรุงพันธุ์พืชให้ทนต่อโรคและแมลงได้มากขึ้น ช่วยสร้างพืชสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่ให้ผลผลิตได้ดียิ่งขึ้น ช่วยขยายพันธุ์และอนุรักษ์พันธุ์พืชที่หายากหรือใกล้สูญพันธุ์ ช่วยในการขยายพันธุ์พืชที่ขยายพันธุ์เองได้ยาก ช่วยให้ได้ต้นกล้าที่สมบูรณ์ปราศจากเชื้อโรค ช่วยให้ผลิตต้นกล้าจำนวนมากๆได้ในเวลาสั้นๆ และช่วยผลิตต้นกล้าได้ตลอดทั้งปีโดยไม่ต้องรอฤดูกาล ช่วยสร้างเมล็ดเทียมหรือเมล็ดสังเคราะห์แทนเมล็ดพันธุ์ธรรมชาติที่หายาก และยังช่วยทำให้การค้นคว้าวิจัยเพื่อการพัฒนาหรือปรับปรุงด้านพันธุ์พืช มีความเจริญก้าวหน้ามากขึ้นอยู่ตลอดเวลา

การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อนั้น เริ่มจากการนำเนื้อเยื่อที่ยังมีชีวิตจากส่วนต่างๆ ของพืช เช่น ราก กิ่งก้าน ตา ใบ ดอก หรือผล เป็นต้น มาศึกษาปรับปรุงพันธุกรรมและทำให้ปลอดเชื้อ แล้วจึงนำมาเพาะเลี้ยงในสารอาหารวิทยาศาสตร์ ซึ่งประกอบไปด้วย แร่ธาตุอาหาร รวมถึงสารเคมีที่ควบคุมการเจริญเติบโตต่างๆ โดยต้องเลี้ยงในสถานที่ปลอดเชื้อ และมีการควบคุมสภาพแวดล้อม เช่นอากาศ แสงสว่าง อุณหภูมิหรือความชื้นเป็นต้น เพื่อให้มีความเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืชมากที่สุด จนกระทั่งเนื้อเยื่อของพืชเหล่านั้นเจริญเติบโตมาเป็นต้นกล้าพันธุ์ที่สมบูรณ์ต่อไป ซึ่งปัจจัยทุกอย่างที่เกี่ยวข้องจะมีมนุษย์เป็นผู้กำหนดและควบคุมเองทั้งหมด

ดังนั้นในทุกขั้นตอนของการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ จึงต้องทำในห้องทดลอง หรือห้องปฏิบัติการที่ปลอดเชื้อและสามารถควบคุมสภาพแวดล้อมให้มีความเหมาะสมมากที่สุด ตามที่มนุษย์ต้องการได้ทำให้การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อต้องใช้เงินลงทุนสูง เพราะเครื่องมือและวัสดุอุปกรณ์ต่างๆที่จำเป็นต้องใช้งาน ล้วนเป็นเครื่องมือเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีราคาสูงแทบทั้งสิ้น นอกจากนี้ผู้ปฏิบัติการยังต้องมีทักษะความรู้ในด้านวิทยาศาสตร์การเกษตร ทำให้ช่วงเวลาที่ผ่านมา การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ จึงเกิดขึ้นเฉพาะในหน่วยงานด้านวิชาการของภาครัฐ มหาวิทยาลัย หรือบริษัทเอกชนด้านการเกษตร มากกว่าจะเป็นเรื่องของเกษตรกร

สำหรับในปัจจุบัน มีเกษตรกรรุ่นใหม่ๆ จำนวนมาก ที่เรียนจบมาทางด้านเกษตรศาสตร์โดยตรง มีทักษะและความรู้ในเรื่องการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อของพืชกันมากขึ้น ที่เพิ่มโอกาสในการสร้างสรรค์พันธุ์พืชใหม่ๆ และพัฒนาประโยชน์ได้อีกมากมาย จากความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การเกษตรที่ร่ำเรียนมา ซึ่งจะทำให้วงการเกษตรกรรมก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ ครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook