สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

การเลี้ยงปลาดุกในบ่อปูนซีเมนต์

ปลาดุกเป็นปลาที่เป็นที่นิยมของตลาด ได้รับความสนใจจากเกษตรกรหลายรายที่จะหันมาทำการเลี้ยง โดยวิธีการที่นิยมเลี้ยงสำหรับผู้เริ่มต้นวิธีหนึ่งคือการเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ เพราะไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่มากนัก ใช้ต้นทุนไม่มาก โดยขั้นตอนการเลี้ยงต้องเริ่มวางแผนกันตั้งแต่ตลาดรองรับในพื้นที่ หากมั่นใจว่ามีตลาดรับซื้อ สิ่งที่ต้องวางแผนอันดับต่อไปคือเรื่องของการเตรียมวัสดุอุปกรณ์ที่จะต้องใช้ ได้แก่ ท่อปูนซีเมนต์ขนาด 100×50 เซนติเมตร ท่อพีวีซีขนาด 1 นิ้ว ยาว 20 เซนติเมตร และ 40 เซนติเมตร อย่างละ 1 เส้น พร้อมข้องอขนาดเดียวกัน 1 อัน ยางนอกรถสิบล้อเก่าและยางนอกรถมอเตอร์ไซค์เก่า อย่างละ 1 เส้น ตาข่ายคลุมบ่อ  ปูน ทราย หิน เพื่อใช้ในการทำบ่อ ในส่วนของลูกปลาสำหรับนำมาเลี้ยงในบ่อขนาดนี้ ไม่ควรมีจำนวนเกิน 80 ตัว และควรเตรียมน้ำหมักเลี้ยงปลาไว้ด้วย อาหารเลี้ยงปลาดุกและผักเลี้ยงปลาควรหาในพื้นที่ได้ง่าย เช่น ผักตบชวาและผักบุ้ง เป็นต้น

ก่อนที่จะมีการนำปลาดุกลงเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ จะต้องปรับสภาพความเป็นกรด-ด่างในบ่อด้วยการนำโคนกล้วยหรือหัวกล้วยมาสับผสมเข้ากันกับมูลโค นำไปเติมให้เต็มบ่อแล้วเติมน้ำเพื่อทำการหมักทิ้งไว้ 5 วัน ก่อนที่จะปล่อยน้ำออก แล้วจ่ายน้ำสะอาดลงไปหมักทิ้งไว้อีก 1 คืน เพื่อทำความสะอาดแล้วระบายน้ำทิ้งอีกครั้ง และใช้ผักบุ้งทาให้รอบภายในบ่อทิ้งไว้จนแห้ง แล้วจึงเติมน้ำให้มีความลึกประมาณ 10 เซนติเมตรและเติมน้ำหมักชีวภาพลงไป 1 ช้อนโต๊ะ เมื่อจะปล่อยปลาลงบ่อ ให้นำถุงปลาจุ่มลงไปทั้งถุงในบ่อ แล้วปล่อยปากถุงให้เปิดออกลงในบ่อให้ปลาว่ายออกมาเอง โดยงดให้อาหารปลาในวันแรก แต่ต้องเติมพืชผักที่ปลากินลงไปในบ่อไว้ด้วย

การให้อาหารปลาดุกที่เลี้ยงไว้ จะให้อาหารในช่วงเช้าและเย็น จนกระทั่งปลามีอายุ 45 วันจึงเปลี่ยนไปให้อาหารปลาขนาดกลางเพียงวันละครั้งตอนเย็น โดยให้นำอาหารปลาไปแช่น้ำไว้ 10-15 นาที ก่อนที่จะนำไปให้ปลากิน เพื่อให้ปลาสามารถกินอาหารได้ทุกตัวทำให้ปลามีอัตราการเจริญเติบโตใกล้เคียงกัน ไม่เกิดน้ำเสียจากที่อาหารปลาเหลืออยู่ในบ่อ  ทั้งนี้เราควรจะต้องปล่อยน้ำออกและเติมน้ำลงไปใหม่สัปดาห์ละ 1 ครั้ง

เมื่อเลี้ยงปลาดุกในบ่อซีเมนต์ได้ครบ 3.5 เดือนแล้ว ปลาที่เราเลี้ยงจะมีน้ำหนักเฉลี่ย 4-5 ตัวต่อกิโลกรัม ดังนั้นปลาที่เราเลี้ยงไว้ราว 80 ตัว จะได้ปริมาณน้ำหนักเฉลี่ย 15 กิโลกรัม สำหรับเกษตรกรที่อยากจะเลี้ยงเพิ่มขึ้นก็คำนวณอัตราค่าใช้จ่ายและรายได้ให้เหมาะสมได้ไม่ยาก

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook