สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

เล้าไก่ เรื่องใหญ่เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี

 เล้าไก่ คือโรงเรือนหรือคอกสำหรับไก่ ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ก็ตาม ขึ้นอยู่กับปริมาณไก่ที่เราเลี้ยง ส่วนความยากง่ายในการก่อสร้างนั้นขึ้นอยู่กับงบประมาณและแผนการเลี้ยงของเราครับ หากเราเลี้ยงไก่ในช่วงเริ่มต้นในแบบทดลองเลี้ยง การสร้างเล้าไก่เราก็สามารถสร้างโดยหาวัสดุที่มีในบ้านในสวน เช่นหญ้าแฝก ต้นไผ่  เพื่อใช้ให้ไก่พักบังแดดบังฝน แยกส่วนออกจากพื้นที่บ้านพักอาศัยของเรา แม้ว่าแต่ก่อนเราจะเห็นคนโบราณเลี้ยงไก่ไว้ใต้ถุนบ้าน แต่ไม่ถูกสุขลักษณะ อาจทำให้ไรไก่หรือเชื้อโรคต่างๆ สร้างปัญหาสุขภาพให้แก่ผู้เลี้ยงไก่ได้

โดยส่วนใหญ่เพื่อนๆ เกษตรกรรายย่อยมักนิยมเลี้ยงไก่พันธุ์พื้นเมือง เพราะมีรสชาติดี เน้นเรื่องอิสระให้แก่ไก่ได้ออกไปหาอาหารกินเอง เพื่อให้ไก่ไม่เครียด เรื่องของรูปทรงของเล้าไก่จึงไม่ใช่เรื่องใหญ่นัก เพราะส่วนใหญ่แล้วไก่จะชอบออกไปอยู่นอกเล้า แต่มีข้อควรระวังคืออย่าให้เล้าไปอยู่ใกล้ต้นไม้เพราะไก่อาจจะไม่ยอมกลับเล้าครับ

หัวใจหลักของการทำเล้าไก่สำหรับมือใหม่นั้น ต้องเน้นวัสดุที่เรามีอยู่ เพื่อไม่ให้สิ้นเปลืองนัก แต่ต้องเป็นวัสดุที่ดูแลรักษาทำความสะอาดได้ง่าย ใช้งานได้นาน การก่อสร้างจะต้องให้เล้าสามารถรับแสงได้ดี เพื่อเป็นการฆ่าเชื้อโรคไปในตัว และต้องมีลมพัดผ่านตลอด จะได้ไม่อับชื้น มีรั้วรอบขอบชิด มีกระสอบปุ๋ยเก่าทำเป็นผ้าม่านไว้กันฝนสาด  พื้นเล้าไก่ต้องแห้ง อาจใช้ฟางแห้งปูทับราว 2 นิ้ว และหมั่นเปลี่ยนฟางแห้งทุก 3 เดือน

ขนาดของเล้าไก่นั้น หากเลี้ยงไก่น้อยกว่า 8 ตัว อาจทำเล้าขนาดเล็ก ความกว้าง*ยาว*สูง ประมาณ 1*2*1 แต่หากเลี้ยงไก่ประมาณ 40 ตัว ควรใช้ล้าขนาด 3*4*2 เมตร เพื่อไม่ให้หนาแน่นเกินไป โดยควรแบ่งสัดส่วนเล้าออกเป็น 2 กรงย่อย เพื่อแยกไก่เล็กออกมาจาก แม่ไก่กับลูกอ่อน เพื่อง่ายต่อการดูแล และอย่าลืมว่าต้องเผื่อทางเข้า-ออกให้เราเข้าไปจัดการเล้าไก่ได้ง่ายๆ ด้วยนะครับ

อุปกรณ์จำเป็นสำหรับเล้าไก่ จะเป็นอุปกรณ์สำหรับการใส่อาหารและน้ำให้ไก่ ที่ต้องเหมาะสมกับจำนวนไก่ในเล้า เช่นเลี้ยงไก่ 10 ตัวควรมีรางใส่น้ำยาวราว 1 เมตร ซึ่งเราอาจจะใช้ไม้ไผ่มาผ่าครึ่งทำเป็นรางน้ำได้โดยไม่ต้องซื้อวัสดุที่แพง เวลาให้อาหารควรให้ในรางที่เราเตรียมไว้ ไม่ควรให้ไก่จิกกินจากพื้น ที่อาจมีเชื้อโรคและพยาธิได้ และการให้อาหารนั้น ไก่จะจิกกินอาหารพร้อมๆ กัน สิ่งสำคัญคือรางใส่อาหารต้องเพียงพอให้ไก่ทุกตัวกินได้พร้อมกัน

สิ่งที่ขาดไม่ได้อีกอย่างในเล้าไก่คือคอนนอน เพราะไก่พื้นบ้านจะนอนบนกิ่งไม้ และสุดท้ายเลยคือรังไข่ตามจำนวนแม่ไก่ครับ ส่วนเพื่อนๆ เกษตรกรท่านใดมีคำถามเชิงลึก อาจจะต้องหารือกับเจ้าหน้าที่ที่สำนักงานปศุสัตว์ในพื้นที่ได้นะครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook