สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

เห็ดระโงก เห็ดป่าที่เพาะปลูกได้

เห็ดระโงก มีการเริ่มเพาะปลูกมาจากโครงการในพระราชดำริ ว่าด้วยเรื่องการปลูกป่า 3 อย่าง ได้ประโยชน์ 4 อย่าง จนสามารถเพาะปลูกได้สำเร็จในที่แรกของประเทศไทย ทำให้กรมป่าไม้ได้นำการปลูกเห็ดระโงกมาส่งเสริมให้แก่ครอบครัวและชุมชนเกษตรกรให้เพาะปลูกเห็ดระโงกกันอย่างถูกวิธีมากยิ่งขึ้น เพราะนอกจากการปลูกเห็ดระโงกนั้นจะเป็นการส่งเสริมและอนุรักษ์ผืนป่าแล้ว ยังสามารถสร้างรายได้ให้กับเพื่อนๆเกษตรกรได้อย่างมหาศาลอีกด้วย โดยเห็ดระโงกจะขึ้นได้ดีในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาวทำให้ราคาเห็ดระโงกอยู่ที่ 200-300 บาทต่อกิโลกรัม  แต่หากเป็นช่วงหน้าร้อนแล้วผลผลิตของเห็ดจะไม่เยอะเท่าช่วงอื่นจึงทำให้ราคาเห็ดระโงกนั้นสูงขึ้นราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 400-500 บาทต่อกิโลกรัมเลยทีเดียวครับ

เห็ดระโงกจะมีลักษณะเหมือนเห็ดป่าทั่วไป โดยมีหมวกทรงกลมสีเหลืองทั่วทั้งดอก ขอบหมวกและลำดอกมีสีขาวปนเล็กน้อย เป็นเห็ดที่ต้องพึ่งพาต้นไม้ชนิดอื่นเพื่อขึ้นอาศัยอยู่ แต่ในบางครั้งก็อาจจะเพาะลงดินได้ เห็ดระโงกจะชอบพื้นที่ร้อนชื้นและในพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำฝนอยู่มาก หากสังเกตผลผลิตของเห็ดระโงกในแต่ละปีก็จะเห็นว่าปริมาณน้ำฝนเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการเพาะปลูกเห็ดระโงกครับ

หากเพื่อนๆ คนใดสนใจที่จะปลูกเห็ดระโงก ควรศึกษาพันธุ์ของเห็ดระโงกกันก่อนนะครับ เพราะนอกจากจะมีเห็ดระโงกที่ทานได้แล้ว ยังมีเห็ดระโงกที่เป็นพิษอีกด้วยครับ โดยสังเกตได้จากลักษณะภายนอกหากเป็นเห็ดระโงกที่มีพิษจะมีลำดอกที่สูงกว่าเห็ดระโงกปกติ แถมหมวกเห็ดจะมีปุ่มนูนกว่าตรงกลางและมีกลิ่นฉุนมาก หากอยากได้พันธุ์เห็ดระโงกที่ถูกต้องก็ควรหาเห็ดจากแหล่งเพาะปลูกมาเพาะพันธุ์ก่อนจะเป็นการดีกว่าครับ โดยการเพาะพันธุ์เห็ดระโงกนั้นจะทำไปพร้อมๆ กับการปลูกต้นยางนาที่เป็นต้นกล้า แต่หากมีต้นยางนาอยู่แล้วก็สามารถเพาะเห็ดระโงกได้เลยครับ ด้วยวิธีการนำดอกเห็ดที่แก่มาขยี้ใส่ลงไปในน้ำสะอาดเพื่อผสมให้เป็นสปอร์เชื้อและนำมาใส่ในดินที่ปลูกกล้าต้นยางนาหรือในบริเวณโคนต้นยางนาที่ขึ้นอยู่ เพียงเท่านี้ก็เป็นอันเสร็จวิธีการเพาะเห็ดระโงกที่สร้างรายได้ดีแล้วล่ะครับ ส่วนใหญ่วิธีดูแลก็มีไม่เยอะเพราะเห็ดระโงกเป็นเห็ดที่ทนต่อสภาพอากาศและยังอาศัยอยู่ในป่ามานานแล้ว ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วงครับ เพียงแต่ดูแลรดน้ำเท่านั้นก็สามารถรอเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เลยครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook