สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

เห็ดเยื่อไผ่ หรือเห็ดร่างแห

เห็ดเยื่อไผ่ มีชื่อเรียกอีกอย่างตามรูปพรรณสัณฐานว่าเห็ดร่างแห เพราะมีหมวกเห็ดที่เป็นตาข่ายบางๆ คล้ายกับแห พบได้ในป่าร้อนชื้นในหลายประเทศทั่วโลก โดยมีต้นแบบการเพาะเลี้ยงเห็ดชนิดนี้มาจากประเทศจีน ที่มีการคัดสรรสายพันธุ์ในการเพาะเลี้ยงอย่างต่อเนื่องมานานนับ 50 ปี และพัฒนากระบวนการเพาะเลี้ยงด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อผลิตเห็ดชนิดนี้ให้เพียงพอกับความต้องการของตลาดในประเทศจีนและส่งออกไปยังต่างประเทศ เพราะเห็ดชนิดนี้มีสารสกัดที่ให้ฤทธิ์ช่วยบำรุงประสาท บำรุงปอด บำรุงไต บำรุงตับ ไล่กรดในกระเพาะอาหาร จึงกลายเป็นอาหารสุขภาพที่ได้รับความนิยมนำมาปรุงอาหารเป็นน้ำซุปหรือต้มน้ำแดง ทำให้เห็ดเยื่อไผ่ที่มีอยู่ตามธรรมชาติเฉพาะช่วงฤดูร้อนนั้น ไม่สามารถรองรับความต้องการของผู้บริโภคตลอดทั้งปีนั่นเองครับ

ลักษณะของเห็ดเยื่อไผ่จะมีดอกเห็ดทรงกรวยคล้ายหอก หัวดอกทู่ มีสีแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ทั้งสีน้ำตาลแดง น้ำตาลแกมเหลืองและสีขาวขุ่น มีความสูงประมาณ 25 เซนติเมตร ดอกที่เติบโตเต็มที่จะมีตาข่ายย้อยออกมาจากหมวกยาวจดโคนดอก เพื่อล่อแมลงเข้ามาช่วยกระจายพันธุ์ของเห็ด โดยการนำสปอร์ในน้ำเมือกที่มีกลิ่นเน่าเหม็นรุนแรงบริเวณหมวกดอกออกไปแพร่ในบริเวณต่างๆ

เห็ดเยื่อไผ่สดที่เป็นดอกตูมสามารถเก็บไว้ในตู้เย็นได้นานหลายเดือน เมื่อเราต้องการรับประทานจึงนำออกจากตู้เย็นมาวางไว้ในอุณหภูมิห้องเพียง 1-2 ชั่วโมง รอให้ดอกบานก็สามารถนำมาปรุงเป็นอาหารได้ แต่โดยส่วนใหญ่จะมีการนำร่างแหของเห็ดชนิดนี้มาตากแห้ง เป็นการถนอมอาหารให้เก็บรักษาง่ายและมีอายุการเก็บรักษาที่ยาวนานขึ้น

การเพาะเลี้ยงเห็ดเยื่อไผ่นั้น นอกจากเรื่องของภูมิอากาศของพื้นที่ปลูกที่ไม่ควรเกิน 25 องศาเซลเซียสแล้ว เราต้องให้ความสำคัญกับสายพันธุ์และวัสดุเพาะที่เหมาะสม ซึ่งจะส่งผลต่อความดก และคุณภาพของดอกเห็ด วัสดุเพาะที่นิยมนำมาใช้ คือ ไม้ไผ่ ฟางข้าว เศษใบไม้กิ่งไม้ ต้นปอแห้ง ชานอ้อย ซึ่งควรมีค่าความเป็นกรดด่างต่ำกว่า 7 ซึ่งจะเป็นการเอื้อให้ตาข่ายเห็ดเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว โดยเราสามารถเพาะเลี้ยงได้ทั้งในป่า แปลงเกษตร หรือ โรงเรือน แต่สำหรับเพื่อนๆ เกษตรกรที่เพิ่งทดลองปลูก อาจจะเริ่มต้นด้วยดารปลูกกลางแจ้งในแปลงเกษตร โดยเลือกพื้นที่ที่หันหน้าไปทางทิศใต้ ดินโปร่งร่วน ไม่ขังน้ำ ดินต้องมีอินทรียวัตถุเยอะ และต้องมีสแลนบังแดดไว้พรางแสง ให้แสงผ่านได้เพียง 40% และต้องทำการเปิด สแลนเพื่อระบายอากาศวันละ 50 นาทีทุกวันครับ โดยช่วงเดือนแรกไม่ต้องรดน้ำ จนกว่าจะเกิดดอกตูมจึงค่อยรดน้ำให้พอชื้น และเมื่อดอกบานควรให้น้ำในปริมาณที่มากขึ้น แล้วจึงทำการเก็บเกี่ยวครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook