สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

เห็ดไค ของหายาก ราคางาม

เห็ดไค เห็ดชื่อแปลกที่คนส่วนใหญ่อาจจะเพิ่งเคยรู้จักในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ แต่เป็นเห็ดที่พี่น้องทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือนำมาปรุงเป็นอาหารเลิศรสกันมาช้านานแล้ว โดยชื่อทางภาคเหนือของประเทศไทยเรานิยมเรียกว่า “เห็ดหล่ม” ในบางพื้นที่เรียก เห็ดหอมดินหรือเห็ดด่านก็มี เห็ดชนิดนี้เป็นเห็ดที่พบได้จากธรรมชาติ บริเวณที่มีความชื้นสูง ดังนั้นจึงพบได้ในป่าท่ามกลางฤดูฝนดังเช่นเห็ดป่าทั่วไป แต่จุดเด่นของเห็ดชนิดนี้คือกลิ่นหอมเฉพาะตัวของเห็ด จึงถูกนำมาเป็นวัตถุดิบหลักในการประกอบอาหาร เช่น แกงเห็ด แจ่วเห็ด ยำเห็ด ซุปเห็ด เห็ดต้มจิ้มน้ำพริกข่าและน้ำพริกเห็ด เป็นต้น แต่เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องฤดูกาล ที่เห็ดจะเติบโตในช่วงฤดูฝนนั้น  ทำให้เห็ดไค เป็นเห็ดที่มีราคาแพง เพราะหารับประทานยาก แต่ถึงแม้จะแพงแค่ไหนตลาดก็ยังมีความต้องการเป็นอย่างยิ่ง

เห็ดไค จะมีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ใกล้เคียงกับเห็ดก่อ เป็นเห็ดที่เจริญอยู่บริเวณรากหาอาหารของต้นไม้อื่นๆ ยกตัวอย่างเช่น ต้นยางนาและต้นพะยอม เป็นต้น  ซึ่งเป็นการอยู่ร่วมกันของธรรมชาติโดยเอื้อประโยชน์ต่อกันหรือพึ่งพาอาศัยกันและกัน เห็ดได้รับอาหารจากรากของต้นไม้ ในขณะที่เห็ดช่วยให้ต้นไม้ได้รับธาตุอาหารและน้ำ ทำให้ระบบรากมีความทนทานและแข็งแรงมากขึ้น และเห็ดยังช่วยย่อยธาตุอาหารในดินและดูดซับมาให้ต้นไม้นำมาใช้ประโยชน์ต่อไป เป็นระบบนิเวศที่เสริมสร้างประโยชน์ต่อกันอย่างมาก

ดอกของเห็ดไค จะมีสีขาวขุ่นหรืออาจจะมีสีออกไปในเฉดสีเขียวหรือเหลืองหม่นบ้าง หมวกเห็ดมีผิวที่เรียบ ขนาดของดอกแตกต่างกันไปตั้งแต่ขนาด 3 เซนติเมตรไปจนถึงขนาด 15 เซนติเมตร บริเวณกลางหมวกจะมีรอยบุ๋มสีครีมหรือกากีอ่อน เนื้อหมวกหนา ด้านใต้หมวกมีครีบบางๆ เรียงตัวกระจายออกจากก้านดอกเป็นรัศมี ก้านดอกหนาและกลม ผิวเรียบ สีขาวและเกิดการเรืองแสงเมื่อถูกแสงไฟกระทบในยามค่ำคืน ดอกเห็ดสามารถขึ้นเป็นดอกเดี่ยวหรือขึ้นเป็นกลุ่มเล็กๆ 3-4  ดอก เห็ดไคที่ได้มีชื่อเสียงเรื่องความหอมอย่างมาก คือเห็ดไคที่มีสีของดอกเห็ดเป็นสีเขียวอ่อน ว่ากันว่าเมื่อนำมาย่างบนไฟแล้วกลิ่นจะหอมชวนรับประทานและมีรสชาติดีอีกด้วย

ปัจจุบันได้มีการเพาะเลี้ยงเห็ดไคกันขึ้น เพื่อให้เกิดผลผลิตเพียงพอกับตลาด ดังนั้นจึงมีเพื่อนๆ เกษตรกรหลายคนที่ปลูกยางนากันไว้อยู่แล้ว หันไปหาเชื้อเห็ดชนิดนี้มาเพาะเลี้ยงเพื่อประกอบเป็นอาชีพเสริม ซึ่งเป็นการทำการเกษตรแบบผสมผสาน เพื่อให้ได้ผลผลิตที่หลากหลาย สร้างรายได้อย่างต่อเนื่องในทุกฤดู เพราะการเพาะเลี้ยงพันธุ์พืชที่หลากหลายนั้นก็ถือว่าเป็นการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนประการนึงด้วย

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook