สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

แตงกวาญี่ปุ่น ไม่ใช่ ซูกินี

แตงกวาญี่ปุ่น เป็นผักชนิดใหม่ ที่รู้จักกันแพร่หลายมากขึ้นในบ้านเรา ในช่วงไม่เกิน 5 ปีที่ผ่านมา หลายคนที่ได้กินมีความเห็นว่า แตงกวาญี่ปุ่นมีรสชาติหวานกรอบอร่อย มากกว่าแตงกว่าไทย และสิ่งที่พิเศษกว่ากันอีกอย่างก็คือ แตงกวาญี่ปุ่น สามารถนำมาใช้ทำอาหารไทย แทนแตงกวาไทยได้ทุกประเภท แต่แตงกวาไทยไม่สามารถนำไปใช้ปรุงอาหารญี่ปุ่น แทนที่แตงกวาญี่ปุ่น ได้เลยเพราะแตงกวาญี่ปุ่นและอาหารญี่ปุ่น ต่างมีความเข้ากันของรสชาติในแบบเฉพาะของตัวเอง

นอกจากนี้ข้อมูล แตงกวาญี่ปุ่น ในบ้านเรายังมีความสับสนอยู่กับ พืชอีกชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า ซูกินี หรือบวบฝรั่ง ซึ่งหากดูเผินๆ อาจมีรูปร่าง ลักษณะคล้ายกับ แตงกวาญี่ปุ่น แต่ในความจริงแล้วเป็นพืชต่างชนิดกัน เพียงแต่อยู่ในวงศ์เดียวกัน เพื่อนเกษตรกรที่หาข้อมูลเรื่องนี้อาจเข้าใจผิดได้ ซึ่งลักษณะที่แตกต่างกันชัดเจนคือ ผิวแตงกวาญี่ปุ่นจะมีหนามอ่อนอยู่ประปราย แต่ผลของ ซูกินีจะไม่มีหนามเลย

แตงกวาญี่ปุ่น เป็นพืชล้มลุกที่มีลำต้นเป็นเถาเลื้อย ความยาวผลมากกว่า 40 เซนติเมตร ลำต้นเหลี่ยม ใบมุมแหลม มีขนขึ้นปกคลุม มีรากแก้ว ในหนึ่งต้นจะมีทั้งดอกตัวผู้ และดอกตัวเมีย แยกกันอยู่จึงต้องอาศัยผึ้งคอยช่วยผสมเกสร โดยดอกตัวผู้จะมีแต่ก้านดอกออกกันอยู่เป็นกลุ่ม ส่วนดอกตัวเมียมีสีเหลืองออกเป็นดอกเดี่ยวติดกับผลขนาดเล็ก ๆ ผลแตงกวาอ่อนมีหนามสั้นๆ เมื่อแก่จะหลุดออก ผิวผลสีเขียวเข้ม เนื้อผลแน่นฉ่ำน้ำกรอบ ไส้ผลคล้ายเนื้อเจลลี่

แตงกวาญี่ปุ่น ชอบอุณหภูมิที่เหมาะสม 18 – 24 องศาเซลเซียส ความชื้นในอากาศต่ำ และต้องการรับแสงอย่างเต็มที่ตลอดวัน หากอากาศร้อนเกินไปลำต้นจะออกแต่ดอกตัวผู้ ทำให้ได้ผลผลิตต่ำ ส่วนดินที่เหมาะ ต่อการเจริญเติบโตของแตงกวาญี่ปุ่น คือ ดินร่วนปนทราย มีความชื้นในดินพอเหมาะ มีสภาพเป็นกรดเล็กน้อย มีค่าpH ที่ระหว่าง 5.5 – 6.5  และต้องมีอินทรีย์วัตถุสูง การระบายน้ำดี  น้ำไม่ขังแฉะ เพราะหากน้ำขังจะทำให้เกิดโรคได้ง่าย อย่างไรก็ตามในช่วงการปลูกควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอตลอดฤดูกาลผลิต

แตงกวาญี่ปุ่น เป็นพืชที่ราคาผลผลิตดีมาก แต่ก็มีความยากในการปลูก จะต้องคอยดูแลเอาใจใส่อยู่ตลอดเวลา และใช้เงินลงทุนสูง เพราะเป็นพืชที่ยังอ่อนแอต่อสภาพแวดล้อม และแมลงศัตรูพืชในไทยอย่างมากทำให้จำเป็นจะต้องเพาะปลูกในโรงเรือนปิด และใช้ระบบการให้ปุ๋ยและสารอาหารทางน้ำ ด้วยระบบอัตโนมัติและเพื่อตัดความเสี่ยงจากโรคและแมลงศัตรูพืช ควรต้องใช้วัสดุขุยหรือกาบมะพร้าวในการปลูก แทนการใช้ดิน สำหรับเกษตรกรที่สนใจการปลูกแตงกวาญี่ปุ่นอย่างจริงจัง จำเป็นต้องศึกษาหาความรู้ และทำความเข้าใจในเรื่องการปลูกพืชไร้ดิน รวมถึงระบบการปลูกพืชในโรงเรือน ที่ต้องคอยควบคุมดูแลทุกอย่าง อย่างใกล้ชิดกันด้วยนะครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook