สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

แมลงหวี่ขาว ศัตรูตัวฉกาจ

แมลงหวี่ขาว คือแมลงศัตรูพืชที่มักเข้าทำลายผลผลิตพืชเศรษฐกิจหลายชนิด โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจสำคัญ อย่างพริก มะเขือเทศ กะหล่ำปลี ฝ้าย ใบยาสูบ และมันฝรั่ง ยิ่งเป็นช่วงฤดูฝนยิ่งพบการระบาดมากคล้ายกับแมลงศัตรูพืชจำนวนมาก ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พืชอาหารหลักของแมลงเหล่านั้นเริ่มผลิดอกออกผล แมลงหวี่ขาวจะใช้ปากแหลมดูดกินน้ำเลี้ยงในส่วนต่างๆ ของพืชและยังนำพาไวรัสก่อโรคใบด่างเข้ามาแพร่แก่พืช สร้างปัญหาให้ผลผลิตตกต่ำ ต้นพืชเจริญเติบโตไม่เต็มที่ และพืชอาจตายได้หากโดนเข้าทำลายอย่างรุนแรง

แมลงหวี่ขาวเหล่านี้จะอาศัยใต้ใบพืชอาหารอยู่กันเป็นกลุ่ม แนบติดใต้ใบไม้ไม่ขยับตัว ยกเว้นถูกก่อกวน แมลงหวี่ขาวที่เจริญพันธุ์เต็มที่เมื่อมีอายุ 12-24 วัน จะวางไข่ได้ถึงคราวละ 200-300 ฟอง และเริ่มเจาะกินน้ำหวานในพืชตั้งแต่ระยะอายุ 2-3 วัน และสามารถเข้าจู่โจมต้นพืชในทุกช่วงการเจริญของพืชเลยครับ สังเกตได้จากใบพืชจะหงิก ขอบใบเหี่ยว ต้นชะงักการเจริญ จนกลายเป็นแมลงศัตรูตัวฉกาจที่เพื่อนๆ เกษตรกรขยาดกันนักครับ

เมื่อพูดถึงเรื่องแมลงศัตรูพืชนั้น เราควรต้องคำนึงเรื่องการการผลิตของเราเพื่อควบคุมปัญหาไว้ตั้งแต่ต้น ควรมีการปลูกพืชหมุนเวียนหรือปลูกพืชหลากชนิดแบ่งเป็นโซนๆ ไป พอหมดฤดูกาลจึงหมุนเวียนไปปลูกพืชชนิดอักในแปลงถัดไป โดยไม่ซ้ำแปลงกัน เพื่อไม่ให้แมลงหวี่ขาวคุ้นชินกับพืชอาหารและแพร่พันธุ์ได้น้อยลงในที่สุด นอกจากนั้นควรมีการควบคุมแมลงศัตรูพืชมาใช้ร่วมกันอย่างเหมาะสม อย่ายึดติดแต่เพียงการใส่สารเคมีกำจัด เพราะนอกจากจะทำให้แมลงศัตรูพืชดื้อยา ยังทำให้เกิดปัญหาแก่ระบบนิเวศของแปลงเกษตรของเราด้วย

การสร้างโรงเรือนอาจจะไม่เหมาะสมกับการกำจัดแมลงหวี่ขาวนัก เพราะว่ามีขนาดเล็กมากอาจเล็ดลอดเข้าไปในโรงเรือนได้ ควรใช้กับดักไฟเรืองแสงสีเหลืองแขวนตามจุดต่างๆ และปล่อยตัวห้ำและตัวเบียนในแปลงพืชผล และอย่าลืมที่จะเชื้อจุลินทรีย์เข้าทำลายแมลงหวี่ขาวหากพบการระบาด แม้จะไม่เห็นผลทันตา แต่ไม่เป็นพิษต่อเพื่อนๆ เกษตรกรและสิ่งแวดล้อมด้วย เชื้อจุลินทรีย์จะมีสารพิษทำให้แมลงหวี่ขาวเป็นโรคและตายลงไปได้ ลดประชากรได้จำนวนหนึ่ง และควรใช้น้ำหมักจากพืช อย่างน้ำมันหอมระเหยต่างๆ ที่สามารถสกัดได้จากพืชสมุนไพรในไทยเรามาฉีดพ่นบนพืชผล เพื่อป้องกันไม่ให้แมลงหวี่ขาวเข้ามาทำลาย ซึ่งส่วนใหญ่เพื่อนๆ เกษตรกรมักจะผลิตขึ้นมาใช้เอง เพราะเป็นสมุนไพรหาง่าย และขั้นตอนในการผลิตไม่ยุ่งยาก เป็นทางเลือกที่ดีกว่าการใช้สารเคมีมากเลยครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook