สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

แมลงเต่าทองตัวฉกาจ ปราบศัตรูพืชร้าย

เพื่อนๆ เกษตรกรหลายท่านอาจพบเจอปัญหาแมลงศัตรูพืชที่สร้างความวุ่นวายและความเสียหายให้กับผลผลิตทางการเกษตรอย่างไม่น่าให้อภัย ไม่ว่าจะเป็นการกัดกินผลผลิตที่ปลูก หรือ เป็นพาหะนำพาโรคมาสู่พืชพันธุ์ที่เพาะเลี้ยงเอาไว้ จนเป็นสาเหตุให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตของเรา ทำให้เราต่างก็หาหลากหลายวิธีไว้ใช้ในการปราบศัตรูพืชเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นวิธีการทางชีวภาพหรือโดยสารเคมี

ด้วยความที่พวกเราอยากได้ผลลัพธ์ที่รวดเร็วทันใจ จึงมีเพื่อนๆ หลายท่านเลือกใช้สารเคมีในการปราบศัตรูพืชซึ่งอาจเป็นวิธีที่ไม่สู้ดีนักเพราะเกิดผลกระทบที่ตามมาในระยะยาว ซึ่งอาจจะสร้างความเสียหายมากยิ่งขึ้นกว่าเดิมได้ด้วยครับ เพราะในสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศนั้นไม่ได้มีเพียงแต่แมลงศัตรูพืชเท่านั้น แต่ยังมีแมลงชนิดต่างๆ ที่อาจเป็นประโยชน์กับพืชและดิน  ดังนั้นหากเราใช้ยาเคมีปราบศัตรูพืชแล้ว อาจทำให้แมลงที่มีประโยชน์เหล่านั้นหนีหายตายจากไปด้วย

เพราะฉะนั้นแล้วหากเพื่อนๆ เกษตรกรทุกท่านต้องการหาวิธีปราบศัตรูพืชที่ได้ผลดีในระยะยาวก็คงจะหนีไม่พ้นการใช้ธรรมชาติบำบัดตัวของมันเอง คือ การนำแมลงที่สามารถกำจัดศัตรูพืชมาเพาะเลี้ยงและใช้งานได้อย่างระยะยาวแถมยังไม่มีผลเสียตามมาอีกด้วย แมลงปราบศัตรูพืชตัวร้ายนั้นก็คงจะหนีไม่พ้น เจ้าแมลงเต่าทอง หรือ ที่เรียกว่า ด้วงเต่าลาย เป็นแมลงปีกแข็งที่มีขนาดตัวเล็กกระจิดริดและมีหลากหลายสีสันบนตัว แต่งแต้มไปด้วยลายจุด

หากเพื่อนๆเกษตรกรท่านใดต้องการจะเพาะเลี้ยงแมลงเต่าทองนั้นก็ไม่ยากเลยครับ เพียงแค่จับแม่พันธุ์แมลงเต่าทองและพ่อพันธุ์ใส่ไว้ในขวดโหลและจัดเตรียมอาหารไว้ให้พร้อม โดยการเลี้ยงเพลี้ยอ่อนไว้เป็นอาหารของแมลงชนิดนี้ วิธีการเลี้ยงเพลี้ย สามารถทำได้โดยวิธีการปลูกต้นถั่ว จากนั้นจึงรอเวลาประมาณไม่ต่ำกว่า10วัน ค่อยนำเพลี้ยอ่อนออกมาใช้เป็นอาหารของแมลงเต่าทอง

เมื่อคัดแยกแม่พันธุ์และพ่อพันธุ์แมลงเต่าทองจับแยกไว้เป็นคู่ๆ โดยสังเกตดูที่ขนาดตัว ซึ่งตัวเมียจะมีขนาดตัวอ้วนใหญ่กว่าตัวผู้ หรืออาจสังเกตจากพฤติกกรรมการผสมพันธุ์ระหว่างตัวเมียและตัวผู้ เพียงเท่านี้ก็สามารถนำมาเลี้ยงไว้ได้ถูกวิธีแล้วล่ะครับ ส่วนวิธีให้อาหารนั้นเพียงแค่นำต้นถั่วที่มีเพลี้ยอ่อนใส่ลงไปในขวดเท่านั้นก็เป็นอันเรียบร้อย

หลังจากนั้นก็เพียงแต่รอให้แมลงเต่าทองตัวเมียวางไข่ โดยระหว่างนั้นเราจะต้องเปลี่ยนต้นถั่วอย่างสม่ำเสมอ เมื่อตัวอ่อนฟักตัวแล้วจึงค่อยนำแม่พันธุ์และพ่อพันธุ์แยกไปใส่ในขวดโหลใบใหม่ เพื่อที่จะเตรียมไว้สำหรับวางไข่ในครั้งต่อไป จากนั้นก็นำตัวอ่อนแมลงเต่าทองที่ได้ไปปล่อยไว้ในแปลงเกษตรต่างๆ ในบริเวณที่ต้องการ เพื่อที่จะใช้เป็นตัวการในการกำจัดศัตรูพืชเพียงเท่านี้ก็หมดปัญหาศัตรูพืชกวนใจแล้วล่ะครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook