สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

แห้ว ของดีที่ถูกจำกัดด้วยดินเฉพาะ

แห้วหรือแห้วจีนมีชื่อภาษาอังกฤษว่า Chinese water chestnut เป็นพืชปีเดียวขึ้นในน้ำเหมือนข้าว และเป็นพืชเศรษฐกิจท้องถิ่นที่สำคัญของจังหวัดสุพรรณบุรี โดยมีแหล่งผลิตที่สำคัญ คือ บางตำบลของอำเภอศรีประจันต์ และอำเภอเมือ สุพรรณบุรีเท่านั้น เพราะแห้วเป็นพืชที่เจริญ เติบโตได้ดีในดินชุดสระบุรีไฮเฟต ถ้าเป็นดินชุดอื่น จะ ทำให้แห้วเจริญเติบโตลึกลงไปในดินมากขึ้น ทำให้เก็บเกี่ยวได้ยากและบางครั้งก็ไม่ยอมลงหัว จึงเป็นข้อจำกัดในการเพาะปลูกแห้ว ทำให้มีพื้นที่เพาะปลูกที่ไม่มากพอ ทำให้ไม่สามารถสร้างผลผลิตได้เพียงพอเมื่อเทียบกับความต้องการของตลาด แม้ว่าผลผลิตส่วนใหญ่จะใช้ในการบริโภคภายในประเทศก็ตาม

แห้วเป็นพืชสมุนไพรตระกูลกก มีสรรพคุณเป็นยา มีเนื้อสัมผัสกรอบ โดยแห้วสุพรรณบุรีนั้น มีลูกโต เนื้อเยอะ ประโยชน์ของแห้วนั้นสามารถนำมาใช้ผสมในอาหารคาว เช่น ผัดจับฉ่ายเจ หอยจ้อ หรือนำมาปรุงเป็นอาหารหวาน เช่น เต้าทึง หรือผสมในขนมไทย อย่างทับทิมกรอบ เป็นต้น และยังใช้ทำแป้งทำขนมได้ด้วย เนื่องจากมีโปรตีนสูง ใกล้เคียงกับแป้งสาลี และมีคาร์โบไฮเดรตสูงจึงผลิตเป็นแป้งได้

มีการศึกษาวิจัยพบว่า แห้ว อุดมสมบูรณ์ไปด้วยวิตามินบี 1 ที่ช่วยเสริมสร้างความจำให้เป็นเลิศ ช่วยบำรุงสมอง ป้องกันการเป็นโรคเหน็บชา และยังมีวิตามินบี 2 ที่ช่วยป้องกันการเป็นโรคปากนกกระจอก เป็นแหล่งของวิตามินอี มีใยอาหาร และมีคาร์โบไฮเดรตสูง และยังมีสรรพคุณในการบำรุงร่างกาย แก้กระหายน้ำ บรรเทาอาการไอ ช่วยการทำงานของระบบปัสสาวะได้ดี แก้อาการอาหารไม่ย่อย ท้องผูก

หัวแห้วจีนมีลักษณะทรงกลมแป้น มีขนาดใหญ่กว่าแห้วไทยและเนื้อไม่เหนียวเหมือนแห้วไทย โดยนำพันธุ์มาจากประเทศจีน ขยายพันธุ์ด้วยวิธีเพาะต้นกล้าและนำไปปลูกในนาคล้ายกับการทำนาดำ แต่ดินที่ใช้ปลูกจะต้องมีสภาพดินที่เป็นดินชุดสระบุรีและสระบุรีไฮเฟต (Sb-h) จึงจะทำการปลูกแห้วได้ สำหรับแหล่งน้ำที่ใช้สำหรับการปลูกแห้วมาจากระบบชลประทาน น้ำฝน และน้ำบาดาล

การเก็บเกี่ยวแห้วนั้น มีข้อจำกัดที่ไม่สามารถเก็บในสภาพสดได้นาน เราจึงไม่นิยมเก็บขึ้นมาทีเดียวจนหมดแปลง แต่จะทยอยเก็บและขายไปเรื่อยๆ วันต่อวัน การเก็บรักษาแห้วดิบนั้น สามารถเก็บไว้ในที่อากาศถ่ายเทสะดวกได้นาน 7-10 วัน แต่ถ่เป็นแห้วดิบที่ปอกเปลือกแล้วจะเก็บได้เพียง 3 วันครับ

ปริมาณแห้วที่เก็บได้อยู่ที่ประมาณ 4,000 กิโลกรัมต่อไร่ ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำและสภาพอากาศในฤดูกาลผลิต ราคาขายประมาณ 15 บาทต่อกิโลกรัม โดยการขายเป็นแห้วสดที่ยังไม่ปอกเปลือกให้แก่ให้พ่อค้าคนกลางซึ่งจะมารับซื้อที่นาแห้วโดยตรงหลังจากงมทันที หรือขายแบบแห้วขาวที่ตลาด โดยการปอกเปลือกเองก็ได้ครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook