สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

โรคพืช รู้ไว้ ป้องกันความเสียหายได้

โรคพืช แค่ได้ยินเราก็ไม่อยากจะให้เกิดขึ้น แต่ในอาชีพเกษตรกร เราคงหนีปัญหาเหล่านี้ไปไม่ได้ สิ่งที่เราจำเป็นต้องเตรียมการเพื่อรับมือ คือความรู้อย่างถ่องแท้ ว่าโรคพืชนั้น คืออาการที่ผิดปกติของพืชที่เกิดขึ้นในแต่ละส่วนของพืช ตั้งแต่ส่วนของรากไปจดปลายยอดของต้นพืช ดังนั้นการรับมือกับโรคพืชนั้น เราต้องมีการเลือกวิธีการต่างๆ เพื่อให้พืชสามารถอยู่รอด และให้ผลผลิตตามที่เราตั้งเป้าไว้ โดยไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและไม่เกิดต้นทุนที่สูงเกินไป

ลักษณะของพืชที่เป็นโรคนั้น เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย โดยเราสามารถจำแนกเป็น โรคพืชที่เกิดจากสิ่งไม่มีชีวิต ซึ่งเราสามารถรับมือได้เร็วกว่า โรคพืชที่เกิดจากสิ่งมีชีวิต โรคพืชที่เกิดจากสิ่งไม่มีชีวิตนั้น ก็คือพืชที่เกิดอาการผิดปกติจากสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น สภาพอากาศที่ร้อนเกินทำให้ใบไหม้ สภาพดินที่ขังน้ำทำให้เกิดโรคโคนเน่า แสงจัดเกินไปหรือได้รับแสงน้อยเกินไป ดินเปรี้ยวหรือเค็มเกิน สารเคมี และ ความผิดปกติของสายพันธุ์ ซึ่งโรคที่เกิดขึ้นอาจสร้างความเสียหายน้อยเพราะเกิดขึ้นเฉพาะบริเวณ ไม่มีการระบาดแพร่กระจายเหมือนโรคที่เกิดจากสิ่งมีชีวิต ที่สามารถขยายวงกว้างจนเกิดความเสียหายอย่างมหาศาลได้

พืชที่เป็นโรคจากสิ่งมีชีวิต อย่างไวรัส แบคทีเรีย รา และไส้เดือนฝอยนั้น จะเกิดการระบาดในวงกว้าง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีสภาพเอื้อต่อการระบาดของโรค ทั้ง ระดับความชื้น น้ำ ดิน ฝน เพราะสิ่งมีชีวิตเหล่านี้มีความสามารถในการแพร่พันธุ์ได้รวดเร็ว โดยสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดจะส่งผลต่อพืชในการเกิดโรคต่างๆ แตกต่างกันไป  โดยพืชที่เป็นโรคจากเชื้อไวรัสมักจะเกิดอาการผิดปกติบริเวณใบของพืช เกิดอาการใบด่าง ใบหงิก ใบหด เป็นต้น ส่วนโรคที่เกิดจากแบคทีเรียนั้นจะมีอาการที่แตกต่างกันไปตามแต่ละส่วนของพืช เช่นเมื่อแบทีเรียเข้าไปทำลายท่อลำเลียงอาหารของพืช จะทำให้พืชชะงักการเติบโตและเหี่ยวตายในที่สุด หากเป็นพืชที่อุ้มน้ำจะมีอาการลำต้นเน่า แต่หากแบคทีเรียเข้าไปทำลายในเซลล์พืชอาจเกิดเป็นปุ่มต่างๆ บนลำต้นหรือเกิดอาการใบไหม้จนต้นตาย

ส่วนพืชที่เป็นโรคจากเชื้อรานั้น พบความเสียหายในแทบทุกจุดของพืช ทั้งใบไหม้ ต้นเน่า โคนเน่า รากเน่า หรือลำต้นชะงักการเติบโต แห้งเหี่ยวและเฉาตายในที่สุด โดยโรคที่เราคุ้นกันที่สุดที่เกิดจากเชื้อราก็คือโรคแอนแทรคโนสนั่นเองครับ ส่วนไส้เดือนฝอยนั้น อาจเข้าไปทำลายรากของพืช จนเกิดการขมวดเป็นปม ทำให้ต้นไม้ไม่เจริญและตายได้

ดังนั้นก่อนที่จะปลูกพืชชนิดไหน เราต้องศึกษาถึงภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคของพืชให้ดีนะครับ ว่าพันธุกรรมของพืชนั้น เอื้อต่อโรคใด เชื้อสาเหตุโรคคืออะไร ช่วงเวลาและสิ่งแวดล้อมไหนที่อาจก่อให้เกิดโรคได้ ถ้าหากเราศึกษาครบ เราก็จะมีวิธีรับมืออย่างเหมาะสม ป้องกันและลดปัญหาต่างๆได้ ทำให้การทำการเกษตรกรรมของเราได้รับกำไรอย่างดีครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook