สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

โรคแอนแทรคโนส

แอนแทรคโนส เป็นโรคพืชที่เพื่อนๆ เกษตรกรควรเฝ้าระวัง เพราะถือเป็นเรื่องของศัตรูพืชที่เข้ามาสร้างความเสียหายให้แก่พืชผลของเราไม่ต่างจากพวกแมลงที่เป็นต้นเหตุทำให้พืชเหี่ยวเฉาและมีผลผลิตลดลง โรคพืชชนิดนี้เป็นโรคที่สามารถแพร่ระบาดจากพืชสู่พืชได้ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว หากมีสภาพอากาศรวมทั้งสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตของเชื้อราชนิดนี้ ซึ่งสามารถพบเจอโรคนี้ได้ในพืชพันธุ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพืชผัก พืชตระกูลถั่ว หรือแม้แต่พืชผลที่เรานิยมเพาะปลูกกันเป็นส่วนใหญ่ ตั้งแต่มะม่วง ส้มโอ พริก ถั่ว ต่างๆ โดยเฉพาะในบ้านเราซึ่งมีอยู่ในเขตร้อนและมีสภาพอากาศชื้นสูง

เราสามารถสังเกตได้ว่าหากพืชติดโรคบริเวณใบ ใบจะเกิดแผลสีเทาตรงกลางแผล จนใบพืชบางลงจนอาจทำให้ใบทะลุได้ นอกจากนี้โรคแอนแทรคโนสยังสามารถติดเชื้อได้ในทุกส่วนของต้นพืช ตั้งแต่ราก โคนต้น ไปจนถึงใบ ดอก ผล ของพืชได้ และถ้าหากโรคดังกล่าวติดที่ดอกแล้ว ตัวเชื้อราจะแฝงตัวอยู่ในดอก จนกระทั่งดอกเจริญเติบโตกลายเป็นผล เชื้อดังกล่าวจะทำให้บริเวณผลเกิดจุดสีดำคล้ำขยายเป็นวงกว้าง ตรงกลางจุดมีของเหลวเหนียวๆ สีส้มและสีชมพูซึมเยิ้มออกมา ทำให้ผลผลิตดังกล่าวเสียหาย ขายไม่ได้ราคา และทำให้ต้นพืชหยุดการเจริญเติบโตได้อีกด้วยครับ

วิธีการป้องกันและกำจัดโรคแอนแทรคโนสนั้น เราสามารถวางแผนล่วงหน้าไว้ตั้งแต่ก่อนการลงมือเพาะปลูก ซึ่งถือว่าเป็นการป้องกันไว้ในขั้นหนึ่ง โดยเริ่มจากการคัดเลือกก้านพ่อแม่พันธุ์ หรือ เมล็ดที่มีความสมบูรณ์ ไม่มีประวัติการเป็นโรคนี้มาปลูกในแปลง เพราะหากมีประวัติการติดโรคแอนแทรคโนสมาก่อน โอกาสที่จะเกิดขึ้นซ้ำก็ย่อมมีตามมาด้วย ต้นพืชที่มีกิ่งก้านใบหนา ควรทำการตัดแต่งให้โปร่ง เพื่อให้แสงแดดส่องถึง ไม่ให้เกิดความชื้นกับส่วนต่างๆ ของพืชมากเกินไป เพราะจะเอื้อต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโรคนี้ได้ และการเว้นระยะห่างระหว่างต้น ควรเว้นให้ห่างกันอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรคจากต้นหึ่งไปสู่อีกต้นหนึ่ง รวมทั้งควรดูแล ตรวจสอบและสังเกตพันธุ์พืชที่ปลูกอย่างสม่ำเสมอ หากพบอาการดังกล่าวให้ตัดและนำส่วนของพืชที่ติดเชื้อราไปเผาทำลายนอกแปลงปลูกในทันที  อีกข้อที่เราสามารถวางแผนไว้ได้สำหรับการป้องกันโรคแอนแทรคโนสในพืชไร่ซึ่งมักมีฤดูกาลปลูกสั้น  คือ การปลูกพืชหมุนเวียนอย่างสม่ำเสมอ ไม่ปลูกพืชซ้ำๆ จนเป็นบ่อเกิดให้เชื้อโรคต่างๆ เกิดขึ้นได้ง่ายและทำการไถตากหน้าดินอย่างน้อย 14-30 วันอยู่เสมอก่อนการปลูกพืชในแต่ละฤดูกาลก็นับว่าเป็นการป้องกันได้อีกทางหนึ่งครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook