สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ใบชะพลู ไม้เถาล้มลุกใช้ทำอาหารได้

ใบชะพลู ภาษาอังกฤษ เรียกกันว่า  Wild Betel Leafbush ต้นไม้ที่ใบเป็นรูปหัวใจสีเขียวเข้ม เป็นไม้เถาล้มลุก บริเวณข้อจะแตกรากเป็นมือจับเกาะเกี่ยว  จัดเป็น 1 ใน 5 สมุนไพรที่ควรปลูกไว้ในบ้าน ด้วยสรรพคุณสารพัดประโยชน์ ทั้งช่วยไล่ลมในกระเพาะ ขับเสมหะ บำรุงธาตุ แล้วยังมีแคลเซียม คลอโรฟิลล์ เบต้าแคโรทีนและวิตามินเอเต็มเปี่ยม

ในการปรุงอาหารเราจะเห็นว่าอาหารไทยจะมีเมนูแกงคั่วที่ต้องใส่ใบชะพู เพื่อดับกินคาวของและช่วยเพิ่มความเผ็ดร้อนให้แก่อาหาร เช่น แกงคั่วหมูย่างใบชะพลู แกงปูใบชะพลู ห่อหมกปลาใส่ใบชะพลู เป็นต้น และพบได้บ่อยในอาหารเวียดนามอีกด้วย

การปลูกใบชะพลูเพื่อขายนั้น จำเป็นต้องให้ความใส่ใจ แตกต่างจากชะพลูธรรมชาติที่ปลูกกันได้ง่ายๆ ปล่อยให้เติบโตกันไปตามฤดูกาล เพราะเราคาดหวังที่จะได้ใบชะพลูที่สวยและมีคุณภาพตามที่ผู้บริโภคต้องการ เริ่มจากการวางแผนเรื่องสถานที่เพาะปลูกที่ต้องมีแดดรำไร แดดจัดไปใบก็เหลืองขายไม่ได้ หากจะทดลองปลูกไม่มาก ก็อาศัยใต้ต้นมะม่วง มะยงชิดเรานั่นแหละครับ  แต่หากเราจะทำขายจริงจังก็ต้องหันไปพึ่งตาข่ายบังแดดหรือสแลนกันแล้วครับ อันนี้ก็ต้องเผื่อเงินทุนกันไว้

ชะพลูปลูกได้ดีในที่ลุ่ม ตะกอนดินเยอะ อินทรีย์เยอะๆ จะแพร่เร็วมาก ใบและยอดจะสมบูรณ์ อวบแน่น เราสามารถขยายพันธุ์ได้ด้วยการตัดยอดไว้ใบ 3 ใบ แล้วนำไปปักชำได้เลย โดยระหว่างต้นให้มีระยะห่าง 15 เซนติเมตรก็พอครับ ให้น้ำวันละ2 ครั้ง ที่สำคัญคือห้ามโดนแดดแรงครับ ต้องอยู่ใต้สแลนเท่านั้นครับ ใบจึงจะสวย ส่วนการให้ปุ๋ยก็ให้ปุ๋ยคอกไร่ละ 20 กระสอบ และรอจนต้นสูงประมาณ 1 ฟุต

วิธีการเก็บใบชะพลูนั้น ก็เริ่มเก็บจากด้านนอกเข้าไปด้านในครับ ตัดออกมาทั้งก้านให้มีความยาวของก้านราวๆ 10 นิ้ว แล้วนำมาชั่งน้ำหนักให้ได้กำละครึ่งกิโลกรัม ช่วงหน้าฝนก็อาจจะราคาต่ำหน่อยเพราะมีผลิตผลเยอะ แต่พอเข้าหน้าหนาวราคาก็พีคตามไปแล้วครับ

สิ่งที่ระมัดระวังสำหรับเพื่อนๆ เกษตรกรที่ปลูกใบชะพลูคือ โรคใบหงิกที่มักเกิดขึ้นในช่วงหน้าแล้ง ที่มาจากไรขาวและเพลี้ยไฟ ที่มักระบาดอย่างหนัก ดังนั้นก็ต้องฉีดพ่นจุลินทรีย์กันไว้เนิ่นๆ และหากพบแมลงเหล่านี้ก็ให้ฉีดน้ำพ่นเข้าที่บริเวณใต้ใบชะพลูที่แมลงพวกนี้ชอบเกาะครับ ฉีดให้หลุดไปเลย ส่วนใบที่โดนทำลายเราก็เด็ดทิ้งออกไปเลยครับ แค่นี้เราก็ได้ผลผลิตดีๆ ไว้ขายแล้วครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook