สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ไซโล คืออะไร?

ไซโล คำที่เราคุ้นชินกันมาช้านาน และมักจะพบเห็นได้ในโรงงานผลิตอาหารสัตว์ขนาดใหญ่ แต่จะมีซักกี่คนที่เข้าใจว่าไซโลจริงๆ แล้วคืออะไรและใช้ประโยชน์อย่างไร ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช 2525 ระบุว่า ไซโลเป็นคำนาม หมายถึง “สิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ ทำด้วยวัสดุที่แข็งแรงทนทาน ภายในมีระบบกันความชื้นและระบายอากาศเป็นต้น สำหรับเก็บผลิตผลทางเกษตรไว้ชั่วคราว” ที่มาจากศัพท์ภาษาอังกฤษว่า silo โดยทั่วไปแล้วที่เราพบเห็นจะเป็นถังขนาดใหญ่ที่ผลิตขึ้นมาจากวัสดุที่มีความคงทนและแข็งแรง เช่น ถังสแตนเลส หรือถังเหล็กชุบ ที่สามารถรองรับผลผลิตทางการเกษตรในปริมาณที่มาก ทั้งที่ผลผลิตประเภทธัญพืชและผลผลิตของเหลวอย่างน้ำผลไม้หรือน้ำนม ซึ่งภายในจะมีระบบควบคุมความชื้นและอุณหภูมิเพื่อเก็บรักษาผลผลิตไว้ให้ได้นานยิ่งขึ้นโดยไม่เกิดความเสียหายต่อผลผลิต โดยทั่วไปจะสามารถบรรจุผลผลิตได้ถึงถังละ 5,000 ตัน

ไซโลอาจจะเรียกเป็นภาษาไทย ว่า ฉางเก็บธัญพืชขนาดใหญ่ แต่อาจจะยาวไปจึงเรียกกันทับศัพท์ไปเลย ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็จะเข้าใจตรงกันว่าคืออะไร โดยทั่วไปจะพบว่าถังเก็บเมล็ดพืชถูกพัฒนาจากถังไม้ขนาดใหญ่ มาเป็นถังคอนกรีตและถังโลหะ โดยมีความสูงได้ถึง 50 เมตรและมักจะตั้งรวมกันมากกว่า 2 ถัง บางแห่งอาจจะมีจำนวนนับสิบถัง ก่อนที่จะนำผลผลิตเข้าไปบรรจุในถังนั้น จะต้องมีการลดความชื้นให้แห้ง เพื่อป้องกันการเกิดเชื้อจุลินทรีย์ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตในที่สุด โดยในไซโลจะมีเครื่องอบไล่ความชื้น และยังมีระบบควบคุมความชื้น อุณหภูมิติดตั้งไว้เสมอ

ไซโลที่ใช้กันอยู่โดยทั่วไปจะแบ่งเป็นออกเป็น 2 ลักษณะ คือ ลักษณะทรงกรวยและลักษณะก้นถังเรียบ ที่แตกต่างกันเพียงเฉพาะรูปทรงภายนอกเท่านั้น โดยทรงกรวยจะต้องยกถังให้สูงจากระดับพื้นดินเพื่อให้ลำเลียงเมล็ดพืชได้สะดวก ส่วนในไซโลแบบกันเรียบนั้นภายในถังจะมีใบกวาดเมล็ดพืชเพื่อให้เหลืออยู่ในถัง  โดยถัง 2 ลักษณะนั้นจะมีระบบสายพานทำหน้าที่ถ่ายเมล็ดพืชหรือผลผลิตออกจากถังเช่นกัน นอกจากนี้การออกแบบถังจะต้องคำนึงถึงเรื่องการระบายความร้อนและความชื้นได้ดี รวมทั้งการติดตั้งพัดลมระบายอากาศเพื่อกระจายความร้อนออกจากเมล็ดพืช เพื่อให้อุณหภูมิภายในมีความเสถียร

สำหรับการเก็บผลผลิตทั่วไปของเกษตรกรที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มวิสาหกิจหรือสหกรณ์นั้น จะมีการสร้างฉางเก็บผลผลิตเช่นกันแต่ไม่ได้มีขนาดใหญ่โตเหมือนไซโลในภาคอุตสาหกรรมอาหารเกษตร ซึ่งกระบวนการเก็บรักษาเน้นการทำให้ผลผลิตแห้ง ไม่มีความเสี่ยงต่อความชื้นหรือเน่าเสีย ด้วยเครื่องอบไล่ความชื้น ส่วนเกษตรกรรายย่อยที่ต้องการเก็บรักษาผลผลิตและเมล็ดพืชก็สามารถกำจัดความชื้นได้ง่ายๆ ด้วยการนำเมล็ดพืชไปตากบนลานคอนกรีตให้ได้รับแดดจัดๆ ถือว่าเป็นวิธีธรรมชาติที่ช่วยยืดอายุการเก็บรักษาเมล็ดพืชได้ดีทีเดียว

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook