สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ต้นพุดซ้อน ไม้ดอกกลิ่นหอม

ต้นพุดซ้อน ไม้ดอกที่มีชื่อในแต่ละพื้นที่แตกต่างกันไปทำให้หลายคนเกิดความสับสนว่าเป็นไม้ดอกชนิดเดียวกันหรือไม่ เช่น ในภาคเหนือจะเรียกว่าต้นเก็ดถวา จะมีเพียงบางพื้นที่ของจังหวัดลำปางที่เรียกว่าพุดป่า ขณะที่ในกรุงเทพเรียกว่า พุดฝรั่ง ส่วนแถบจังหวัดราชบุรีกลับเรียกว่าพุทธรักษา และภาคกลางยังเรียกว่า พุดใหญ่ พุดสวน และพุดซ้อน เป็นต้น ซึ่งท้ายที่สุดดอกที่ชื่อต่างกันเหล่านี้ก็คือดอกสีขาวที่มีกลีบซ้อนกันสวยงาม ให้กลิ่นหอมเย็น จนได้รับความนิยมนำไปถวายพระ

ต้นพุดซ้อนเป็นพืชในสกุล กาแฟ Rubiaceae มีถิ่นกำเนิดในบางส่วนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น บังคลาเทศ กัมพูชา จีน ญี่ปุ่น ลาว เวียดนาม และไทย แต่เดิมเป็นพืชป่า ที่มีใบเขียวขจีตลอดทั้งปี เป็นไม้ที่มีทรงพุ่มสวย เป็นมงคลที่บ่งบอกถึงความมั่งคั่ง มั่นคงของผู้ครอบครองไม้ชนิดนี้และยังให้ดอกที่มีกลิ่นหอม จึงเป็นที่นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ตกแต่งสวน   ส่วนของดอกถูกนำมาใช้เป็นดอกไม้สดหรือนำมาประดิษฐ์เป็นพวงมาลัยเพื่อถวายพระ น้ำมันหอมระเหยที่สกัดจากดอกพุดซ้อนสามารถนำมาใช้แต่งดลิ่นในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ ในประเทศจีนจะนำกลีบดอกแห้งมาผสมในใบชาแห้งเพื่อให้มีกลิ่นหอม ส่วนของเนื้อผลสามารถนำมาสกัดเอาสีเหลืองแดงมาใช้เป็นสีย้อมอาหารและสิ่งทอ ในตำรายาจีนโบราณใช้ผลเพื่อดับพิษไข้และรักษาอาการอักเสบบางจุดได้

ต้นพุดซ้อนเป็นพืชที่มีขนาดแตกต่างกันอย่างมาก หากปลูกในกระถางและมีการตัดแต่งอย่างดีจะมีความสูงตั้งแต่ 30 เซนติเมตรขึ้นไป แต่หากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ชุ่มชื้น ดินดี อย่างป่าดงดิบชื้น จะสามารถเจริญเติบโตได้สูงถึง 3 เมตร แตกกิ่งก้านสีเขียวหนาแน่นกระจายรอบลำต้น ลำต้นสีเขียว ผิวเรียบเนียน แตกใบจำนวนมากทำให้เป็นทรงพุ่มหนาทึบ ใบแต่ละใบจะออกสลับแบบตรงกันข้าม ใบจะพบได้ทั้งแบบใบที่มีปลายโค้งมนและปลายใบแหลม แต่โคนใบมักสอบและมน ใบมีสีเขียวแก่มันวาว ผิวใบเรียบ  ลักษณะผิวใบคล้ายมีขี้ผึ้งเคลือบอยู่บาง และมีเส้นใบที่เด่นชัด มีก้านใบที่สั้น และใบของต้นไม้ชนิดนี้จะไม่มียาง

ดอกของต้นพุดซ้อน จะผลิบริเวณซอกใบเป็นดอกเดี่ยวขนาดใหญ่ สีขาวนวลสะอาดตา โคนดอกจะมีกลีบดอกขดเป็นทรงแหลมและค่อยๆ บานออกซ้อนกันหลายชั้น ประกอบด้วยกลีบดอกที่ผิวละเอียดนุ่มจำนวน 5-7กลีบ และกลีบเลี้ยง 5-8 กลีบ หากมีการตัดแต่งทรงพุ่มให้แสงแดดสามารถส่องผ่านเข้าไปในพุ่มได้ทั่วถึง จะทำให้ดอกมีขนาดที่สมบูรณ์มากขึ้น  การขยายพันธุ์นิยมใช้การตอนกิ่งเพื่อให้ได้ต้นพุดซ้อนที่ตรงกับพันธุ์ที่สุด และใช้เวลาในการอนุบาลไม่นานนัก

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook