ลูกหยีเป็นผลไม้ที่เป็นอัตลักษณ์และเป็นผลไม้ขึ้นชื่อของจังหวัดปัตตานี ในแต่ละปีจะมีการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากลูกหยี เช่น ลูกหยีเคี้ยวหนึบ ลูกหยีกวน น้ำลูกหยี หรือแม้แต่ซอสจากลูกหยี เพื่อจำหน่ายภายในและนอกพื้นที่ ซึ่งมูลค่าและรายได้ในพื้นที่เป็นจำนวนมาก จากการลงพื้นที่สำรวจและพูดคุยกับกลุ่มวิสาหกิจแปรรูปผลิตภัณฑ์จากลูกหยี เฉพาะที่ ต.สะดาวา อ.ยะรัง จ.ปัตตานี พบว่าในแต่ละครั้งของการซื้อลูกหยีจากเกษตรกรจำนวน 30 -70 ตัน เมื่อนำมาแกะเปลือกและแปรรูปจะมีเปลือกลูกหยีลงเหลือประมาณ 15 – 35 ตัน และทั้งหมดก็ยังไม่ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์นอกจากการเผาทำลายเพียงอย่างเดียว ประกอบกับเมล็ดและเปลือกลูกหยีในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกทิ้งอย่างไร้ประโยชน์ ทั้งนี้ประเทศไทยยังไม่มีฐานข้อมูลของเปลือกลูกหยีที่จะเป็นประโยชน์ต่อคนในพื้นที่ในการประชาสัมพันธ์คุณประโยชน์ของต้นหยีอย่างถูกต้องและนำไปต่อยอดได้
ขณะที่ปัญหาสภาพอากาศในปัจจุบันส่งผลเสียให้กับผิวของเรา ทั้งมลพิษที่มาจากควันรถยนต์ สภาพอากาศ การใช้ชีวิตในสังคมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ อันก่อให้เกิดเซลล์ผิวที่เสียและเกิดรอยคล้ำตามมา ผลิตภัณฑ์ขัดผิว เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในปัจจุบันโดยเฉพาะธุรกิจสปา เพื่อนำไปขัดขจัดเซลล์ผิวหนังเก่าทำให้ผิวดูอ่อนเยาว์
จากประเด็นที่กล่าวมาข้างต้น คณะผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัยฟาฏอนีได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและคุณประโยชน์ของเมล็ดและเปลือกลูกหยีที่มีอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงสนใจพัฒนาสูตรการผลิต ผลิตภัณฑ์ครีมขัดผิวจากเมล็ดและเปลือกลูกหยีเหลือทิ้งจากการแปรรูปของผู้ประกอบการในพื้นที่ดังกล่าวขึ้น สวก.จึงสนับสนุนทุนวิจัยแก่คณะผู้วิจัย โดยมี ดร.ฮัสนะห์ บุญทวี เป็นหัวหน้าโครงการ พัฒนาผลิตภัณฑ์ครีมขัดผิวจากเมล็ดและเปลือกลูกหยีเหลือทิ้งจากการแปรรูปโดยใช้เทคโนโลยีในระดับชุมชุน เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพมาตรฐานทางกายภาพ เคมีและจุลินทรีย์ และอายุการเก็บรักษา และนอกจากนี้ยังได้ทำการเผยแพร่ความรู้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแก่ผู้ประกอบการนำไปประโยชน์ เพิ่มมูลค่าสำหรับสิ่งที่ไม่มีมูลค่า โดยใช้ประโยชน์จากทุกส่วนจากลูกหยีเพื่อเป็นวัตถุดิบในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ทางเลือกแก่ผู้บริโภค เป็นการเพิ่มรายอีกทางหนึ่งด้วย
ผลสำเร็จของงานวิจัยนี้นอกจากทำให้ผู้ประกอบการลูกหยีแปรรูป สามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นแล้ว ยังทำให้เกษตรกรผู้เพาะปลูกต้นหยีมีโอกาสทางการตลาดเพิ่มมากขึ้น เมื่อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้รับการยอมรับในตลาดมากขึ้น จะส่งผลให้มีตลาดรองรับผลผลิตของเกษตรกรเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกษตรกรมีความมั่นคงในอาชีพเพิ่มขึ้นตามไปด้วย อีกทั้งยังเป็นการตอกย้ำภาพลักษณ์ของผลไม้ประจำจังหวัดปัตตานีให้มีชื่อเสียงกว้างขวางมากขึ้น