สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

คุณภาพและความปลอดภัยของปูม้าหลังการเก็บเกี่ยวโดยเรือประมงพื้นบ้านขนาดเล็กในจังหวัดตรัง

ปูม้าเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจของไทยที่ได้รับความนิยมบริโภคทั้งภายในและต่างประเทศ เป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของ ไทย เพราะเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูง เป็นที่ต้องการของตลาดในประเทศและต่างประเทศและมีโอกาสในการเติบโตสูง ตลาดในประเทศนั้นจะเริ่มจากตลาดท้องที่ ที่ทำหน้าที่ในการรวบรวมปูจากแหล่งผลิต เช่น สะพานปลาและฟาร์มปูต่างๆ เพื่อนำไปส่งให้แก่คนกลางหรือตลาดท้องถิ่นในแต่ละจังหวัดก่อนที่จะถึงมือผู้บริโภค ทั้งในรูปแบบของปูสด ปูแช่น้ำแข็ง สดแช่เย็น ปูเป็น ปูนิ่ม ปูดอง และเนื้อปูแกะ ส่วนปูม้าไทยที่ส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ จะอยู่ในรูปแบบ ปูกระป๋อง ปูแช่น้ำเกลือ เนื้อปูสุก และเนื้อปูบรรจุในภาชนะสุญญากาศ อย่างไรก็ตาม เนื้อปูสดมีข้อจำกัดด้านอายุการเก็บรักษาที่สั้นหลังจากการเก็บเกี่ยว ดังนั้นกระบวนการดูแลหลังการเก็บเกี่ยวจึงมีความสำคัญต่อคุณภาพและความปลอดภัยของปูม้า เช่น การเก็บรักษาในระดับความเย็นที่เหมาะสม สุขลักษณะของการเก็บและสถานที่เก็บ และความรวดเร็วในการจัดการแต่ละขั้นตอน เป็นต้น

สวก. จึงได้สนับสนุนวิจัยในโครงการ “คุณภาพและความปลอดภัยของปูม้าหลังการเก็บเกี่ยวโดยเรือประมงพื้นบ้านขนาดเล็กในจังหวัดตรัง” โดยมี รองศาสตราจารย์ สุแพรวพันธ์ โลหะลักษณาเดช   จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย ศึกษาข้อมูลคุณภาพและความปลอดภัยของปูม้า ทั้งทางกายภาพ เคมี และจุลชีววิทยา หลังการ เก็บเกี่ยว ตลอดช่วงฤดูของการเก็บเกี่ยว และคุณภาพของปูม้าของปูม้าจากแหล่งผลิตถึงแหล่งจำหน่ายในจังหวัด ตรังและจังหวัดอื่น ๆ เพื่อเป็นแนวทางในการนำไปประยุกต์ในการจัดการด้านความปลอดภัยในสถานที่รับซื้อปูม้าและ สถานที่แปรรูปปูม้าเบื้องต้น  รวมถึงศึกษาการใช้เทคโนโลยีการบรรจุเพื่อป้องกันการเปลี่ยนแปลงคุณภาพของปูม้าและเนื้อปูม้าในระหว่างการเก็บรักษา

ขอบเขตของการวิจัยครอบคลุมการศึกษาคุณภาพของปูม้าภายหลังการจับจากแหล่งผลิต โดยการสุ่มตัวอย่างปูม้า ในกระบวนการเก็บรักษาเนื้อปูม้าและปูม้าทั้งตัวในสภาวะให้ความเย็นแบบยิ่งยวดร่วมกับการบรรจุแบบสุญญากาศจากแพรับซื้อปูม้า และดำเนินการประเมินทางด้านคุณภาพและความปลอดภัยทางเคมี จุลินทรีย์ กายภาพ และประสาทสัมผัส ให้ได้ข้อมูลคุณภาพที่บ่งบอกถึงความสดและความปลอดภัย ซึ่งจะทำสามารถนำมาใช้เป็นข้อมูลวิเคราะห์ความสี่ยงของปูม้าได้ รวมทั้งมีการศึกษาวิธีการบรรจุและสภาวะการบรรจุปูม้าสด เพื่อป้องกันการเปลี่ยนแปลงคุณภาพของปูม้าในระหว่างการเก็บรักษาเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการหาแนวทางปรับปรุงวิธีการเพื่อชะลอการเสื่อมเสียของเนื้อปูม้า และนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่ได้จากงานวิจัยโครงการนี้ นำไปจัดอบรมให้ความรู้ด้านคุณภาพและความปลอดภัยของปูม้าให้แก่ผู้เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับสินค้าปูม้าไทยให้มีคุณภาพมากขึ้นและสร้างความเชื่อมันให้แก่ผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook