ทุเรียนพื้นบ้าน (Durio zibethinus) มักจะพบได้มากทางภาคใต้ของประเทศไทย ในอดีตไม่ได้มีความสำคัญทางเศรษฐกิจเท่ากับพันธุ์การค้า เช่น หมอนทอง ชะนี ก้านยาว พวงมณี และกระดุมทอง และไม่ได้มีการระบุพันธุ์ชัดเจน เพราะต้นทุเรียนแต่ละต้นจะเกิดการผสมข้ามระหว่างพันธุ์กับต้นที่ปลูกไว้ในบริเวณใกล้เคียงกัน ดังนั้นแต่ละต้นก็มีพันธุ์แตกต่างกันไปไม่ซ้ำกัน จนมีพันธุ์ทุเรียนมากมายเกิดขึ้น แต่ละพันธุ์จะมีลักษณะดีปะปนอยู่ บางพันธุ์สามารถนำมาส่งเสริมเป็นพันธุ์การค้าได้ เช่น ทุเรียนพันธุ์หลงลับแลและทุเรียนหลินลับแล ของจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นต้น ขณะที่ทางภาคใต้มีทุเรียนพื้นบ้านลักษณะดี เช่น พันธุ์สาริกา ของจังหวัดพังงาซึ่งมีการขยายพันธุ์และปลูกเป็นการค้าแล้ว และกำลังอยู่ในกระบวนการจดทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์
ปัจจุบันในภาคใต้หลายจังหวัดมีทุเรียนพื้นบ้านอายุกว่า 100 ปีและมีความหลากหลายของพันธุ์ ขณะที่หลายพันธุ์มีลักษณะดี มีอัตลักษณ์โดดเด่น ที่สามารถนํามาต่อยอดให้เป็นพันธุ์การค้าได้ โดยเฉพาะพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดน ได้แก่ ปัตตานี ยะลา และ นราธิวาส แม้จะมีผู้ศึกษาไปบ้างแล้วบางส่วน แต่ยังมีอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่มีการสำรวจอย่างทั่วถึง และยังไม่มีการศึกษาเชิงลึกเพื่อดูศักยภาพของแต่ละพันธุ์ เพื่อการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ในเชิงการค้าในระดับประเทศ
สวก. จึงสนับสนุนทุนวิจัยในโครงการ “วิจัย สำรวจ คัดเลือก และศึกษาความหลากหลายทางพันธุกรรมทุเรียนพื้นบ้านในสามจังหวัดชายแดนใต้ของประเทศไทย (ปีที่ 2)” ซึ่งมี ผศ.ดร.นิเวศน์ อรุณเบิกฟ้า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นหัวหน้าโครงการ เพื่อศึกษาความหลากหลายของพันธุ์ทุเรียนพื้นบ้านในเขตพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดน ได้แก่ ปัตตานี ยะลา และ นราธิวาส ตั้งแต่การสํารวจและระบุตำแหน่งพิกัดของต้นทุเรียนพื้นบ้านที่มีลักษณะดีในในพื้นที่ดังกล่าว จําแนกลักษณะประจำพันธุ์และประเมินความหลากหลายทางพันธุกรรมของผลทุเรียนพื้นบ้าน ด้วยลักษณะทางสัณฐานวิทยา เครื่องหมายโมเลกุล ลักษณะคุณภาพผลด้านการเกษตร และคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีลักษณะเอกลักษณ์โดดเด่นในด้านการบริโภค ทั้งรสชาติและคุณค่าทางโภชนาการ สำหรับเป็นเอกลักษณ์พืชเด่นของพื้นที่ และทำการขยายสายพันธุ์ทุเรียนพื้นบ้านที่คัดเลือก เพื่อให้ชุมชนปลูกในพื้นที่เดิมทดแทนต้นเก่าที่อายุมาก เพื่อการอนุรักษ์ ขยายพันธุ์และผลักดันให้เป็นสายพันธุ์ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจระดับประเทศต่อไป รวมทั้งคัดเลือกพันธุ์ที่มีศักยภาพในการใช้ประโยชน์ในการใช้เป็นต้นตอทนโรครากเน่าโคนเน่าจากเชื้อ Phytophthora อีกด้วย
ผลสำเร็จของโครงการวิจัยนี้ ทำให้ได้ข้อมูลเชิงลึกของทุเรียนพื้นบ้านในพื้นที่ทั้งด้านคุณภาพผลและศักยภาพด้านการทนทานต่อโรครากเน่าโคนเน่า เพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ทุเรียนในประเทศ และยังอนุรักษ์พันธุ์พืชพื้นเมืองที่โดดเด่นเพื่อการส่งเสริมการปลูกในเชิงพาณิชย์ได้ในอนาคต และสามารถใช้ข้อมูลจากงานวิจัยในการขอจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ได้ ตลอดจนสร้างจิตสํานึกและความร่วมมือของชุมชนและท้องถิ่น เพื่อรักษาฐานทรัพยากรเพื่อความยั่งยืนและภาคภูมิใจสืบต่อไป