สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ปลากดเหลือง ปลาไร้เกล็ด ปลาเศรษฐกิจน่าเลี้ยง

ปลากดเหลืองเป็นปลาที่พบได้ตามแหล่งน้ำจืดและน้ำกร่อยตามธรรมชาติและอ่างเก็บน้ำทั่วไปของไทย ไล่มาตั้งแต่แม่น้ำโขง ลำน้ำกก กว๊านพะเยา แม่น้ำมูล เขื่อนลำตะคอง จรดแม่น้ำโกลก เรียกได้ว่ามีปลาชนิดนี้อยู่ในแหล่งน้ำจืดทั่วทุกภาค แหล่งผลิตที่สำคัญอยู่ในแถบลุ่มน้ำปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ในขณะที่ตลาดมีความต้องการปลาชนิดนี้สูงขึ้น เพราะจัดว่าเป็นปลาน้ำจืดชั้นเลิศที่มีอนาคตสดใส เป็นที่ต้องการของตลาดในประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์อย่างมาก

ปลากดเหลืองจะอาศัยอยู่ตามแอ่งระหว่างโขดหินหรือพื้นท้องน้ำที่เป็นดินแข็ง ใต้น้ำใส ที่มีกระแสน้ำไหลเอื่อยหรือตามแนวน้ำนิ่งที่ต้นน้ำไหลมาบรรจบกัน รวมทั้งบริเวณปากแม่น้ำที่ไหลไปบรรจบแนวน้ำเค็ม อาศัยสัตว์น้ำขนาดเล็กเป็นอาหาร

ลักษณะของปลากดเหลืองจะมีลำตัวที่ยาว โดยเฉลี่ยจะมีความยาวของลำตัวประมาณ 30 เซนติเมตร แต่เคยพบตัวที่ยาวมากถึง 50 เซนติเมตรเช่นกัน ส่วนของหัวแบน ตัวกลม  ไม่มีเกล็ด สีของลำตัวมีความหลากหลายขึ้นอยู่กับแหล่งน้ำที่วัยของปลา โดยทั่วไปขนาดที่โตเต็มวัยจะมีสีออกน้ำตาลแก่เกือบดำ แต่ด้านข้างลำตัวจะยังคงเป็นสีเหลืองอมน้ำตาล มีสีขาวบริเวณท้อง ปลาตัวเมียจะมีลำตัวที่อวบอ้วนกว่าปลาตัวผู้ ท้องจะอูมกว่าอย่างเห็นได้ชัด ปลาตัวเมียจะเริ่มวางไข่ได้เมื่อมีขนาดความยาวของลำตัวอย่างน้อย 26 เซนติเมตร ส่วนปลาตัวผู้จะมีความยาวอย่างน้อย 24 เซนติเมตรจึงจะมีน้ำเชื้อที่พร้อมจะสืบพันธุ์ โดยสามารถวางไข่ได้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-ตุลาคม แต่หากเป็นทางภาคใต้ตอนล่างจะวางไข่ช่วง พฤษภาคม-มกราคม เนื่องจากมีสภาพอากาศที่แตกต่างออกไป แม่ปลาที่สมบูรณ์จะวางไข่ครั้งละประมาณ 35,000 ฟอง วางไข่ขนาด 1 มิลลิเมตร เกาะติดกันเป็นก้อนยึดติดกับวัสดุอื่นๆ หลังจากที่ลูกปลากดเหลืองฟักออกมาเป็นลูกปลาอ่อนได้ 3 วัน จะมีความยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร ลำตัวใสและจะเริ่มว่ายน้ำหาอาหารกินเอง

สำหรับการเลี้ยงปลากดเหลืองในบ่อดินจะต้องมีการเตรียมบ่อดิน หากเป็นบ่อดินเก่าให้ทำการวิดน้ำหรือสูบน้ำออกจากบ่อ ทำการกำจัดศัตรูตามธรรมชาติ รวมทั้งพรรณไม้น้ำต่างๆ ที่มีอยู่ในบ่อออกให้หมด และโรยปูนขาวให้ทั่ว แล้วตากบ่อทิ้งไว้ราว 21-30 วัน ก่อนที่จะจ่ายน้ำเข้าบ่อพักไว้ราว 4 วัน แล้วจึงนำปลาลงบ่อโดยปล่อยปลาที่มีความยาวประมาณ 5 เซนติเมตรลงบ่อในอัตรา 5 ตัวต่อตารางเมตร เพื่อไม่ให้หนาแน่นจนเกินไป และให้อาหารโดยใช้อาหารปลาดุกตามขนาดและวัยของปลาร่วมกับอาหารตามธรรมชาติที่หาง่ายในพื้นที่

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook