ลุ่มน้ำคลองสวนหมากเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำย่อยของลุ่มน้ำปิงตอนล่าง มีเนื้อที่ 1,000 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 625,000 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 13.5 ของพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร ครอบคลุมขอบเขตการปกครองทั้งหมด 11 ตำบล มีคลองสวนหมากไหลผ่าน 6 ตำบล ลักษณะทางอุตุนิยมวิทยาของพื้นที่ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้อากาศหนาวเย็นตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงกุมภาพันธ์ และมีฝนตกชุกในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปีในพื้นที่ลุ่มน้ำประมาณ1,000-1,250 มิลลิเมตร และอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีอยู่ระหว่าง 22.6-31.5 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยทั้งปีมีค่าระหว่างร้อยละ60-80ปริมาณการระเหยมีค่าผันแปรตามค่าอุณหภูมิและความเร็วลมโดยมีปริมาณการระเหยโดยเฉลี่ยรายปี1,741.6 มิลลิเมตรต่อปี ปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยต่อปีของลุ่มน้ำคลองสวนหมากอยู่ที่ประมาณ 186 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีที่สถานีต้นน้ำ P47 และประมาณ 459 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีที่สถานี P26 (ฉัตรชัย, 2547) ลำน้ำคลองสวนหมากมีต้นกำเนิดจากเขาคลองสวนหมากและมีลำน้ำหลายสาขายไหลรวมตลอดแนว ความกว้างของแม่น้ำประมาณ 80-120 เมตร พื้นน้ำเป็นตะกอนทราย ปริมาณตะกอนแขวนลอยประมาณ 68,450 ตันต่อปี เมื่อรวมปริมาณตะกอนท้องน้ำอีกร้อยละ 20 จะมีปริมาณตะกอนรวมประมาณ 82,140 ตันต่อปี อัตราการกัดเซาะเฉลี่ยทั้งลุ่มน้ำประมาณ 0.063 มิลลิเมตรต่อปี น้ำใต้ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำคลองสวนหมากมีความลึกของชั้นน้ำประมาณ 30-110 เมตร ความสามารถในการให้น้ำประมาณ 20-50 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง คุณภาพน้ำบาดาลในพื้นที่โดยทั่วไปอยู่ในเกณฑ์ดีใช้อุปโภคบริโภคได้แต่ต้องปรับปรุงก่อนอุปโภค
ปัจจุบันลุ่มน้ำคลองสวนหมากกำลังเผชิญกับปัญหาหลายประการ ได้แก่ การขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค การเกษตร การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ปัญหาน้ำท่วม การพังทลายของดิน และระดับตะกอนในแม่น้ำสูง รวมถึงปัญหาการใช้ที่ดินที่ไม่เหมาะสม ในขณะที่กลุ่มท้องถิ่น เช่น เครือข่ายจัดการน้ำฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง กลุ่มชุมชนคนกำแพงเพชร และกลุ่มวัฒนธรรมนครชุม มีบทบาทในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ แต่ด้วยพลังที่จำกัดจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงไม่เพียงพอ อีกทั้ง ยังขาดแคลนคนรุ่นใหม่ที่จะสานต่องาน
ลุ่มน้ำคลองสวนหมากมีแผนจะสร้างอ่างเก็บน้ำคลองสวนหมากซึ่งสามารถจุน้ำได้ 171 ล้าน ลบ.ม. แก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรและช่วยเหลือพื้นที่เกษตรกรรมได้ 57,000 ไร่ ระบบชลประทานจะได้รับการพัฒนาอย่างสมบูรณ์และเป็นต้นแบบสำหรับโครงการชลประทานในอุดมคติ แต่ยังมีความท้าทายทั้งข้อกฎหมายเนื่องจากพื้นที่ก่อสร้างอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ 1A ปัญหาดินตะกอน น้ำท่วมฉับพลัน และภัยแล้ง อีกทั้งปัจจุบันกรมชลประทานยังขาดแคลนบุคลากรซึ่งส่งผลกระทบต่อการให้บริการแก่เกษตรกรในพื้นที่ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของกรมชลประทานในการสร้างระบบชลประทานในฝันของลุ่มน้ำคลองสวนหมาก จำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาแผนงานที่คำนึงถึงข้อจำกัดที่มีอยู่และในอนาคต นำเสนอเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อความยั่งยืน และกำหนดการจัดการที่มีประสิทธิภาพ
สวก.จึงสนับสนุนทุนวิจัยโครงการ “การวิจัยเพื่อพัฒนาต้นแบบการบริหารจัดการน้ำเพื่อความยั่งยืน กรณีศึกษาลุ่มน้ำคลองสวนหมาก” เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ของลุ่มน้ำคลองสวนหมาก โดยการมีส่วนร่วมของทั้งชุมชนและเจ้าหน้าที่รัฐ คณะผู้วิจัยได้พิจารณาปัจจัยต่างๆ ดังนี้ ความพร้อมของชุมชน ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ชลประทาน ความพร้อมของแหล่งน้ำ โครงสร้างพื้นฐาน ปัญหาและความต้องการจัดการน้ำ พื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม และวิธีการควบคุมตะกอน การประเมินความต้องการน้ำเพื่อการชลประทานแบบเรียลไทม์จะถูกนำมาใช้เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอย่างแม่นยำ ดำเนินการติดตั้งสถานีตรวจวัดสภาพอากาศในพื้นที่ชลประทานเพื่อประเมินประสิทธิภาพการใช้น้ำและเตือนภัยน้ำท่วม พัฒนาระบบจัดสรรน้ำและติดตามการส่งน้ำในเขตชลประทานแบบเรียลไทม์ จัดทำแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำและลดปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนและทำให้ลุ่มน้ำคลองสวนหมากเป็นต้นแบบในการจัดการลุ่มน้ำในอนาคต