สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ปลาบู่ ตลาดที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง

ปลาบู่ เป็นปลาน้ำจืดที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นสัตว์เศรษฐกิจ เพราะเป็นสินค้าส่งออกที่ทำรายได้จากต่างประเทศเข้ามาในไทยปีละหลายสิบล้านบาท ประเทศผู้นำเข้าปลาบู่จากบ้านเรารายใหญ่ คือประเทศในแถบเอเชีย เช่นสิงคโปร์มาเลเซีย และฮ่องกง โดยอัตราการส่งออกมีปริมาณที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แต่เดิมนั้น เรานิยมเลี้ยงปลาชนิดนี้ในเขตลุ่มแม่น้ำในบริเวณภาคกลางของประเทศด้วยกระชัง แม่น้ำสายหลักที่มีการเลี้ยงปลาบู่ในกระชัง คือ แม่น้ำน่านและแม่น้ำเจ้าพระยา นั่นเองครับ โดยมีแหล่งปลาบู่ที่ใหญ่ที่สุดอยู่ในจังหวัด อุทัยธานี นครสวรรค์และปทุมธานี

ปลาบู่เป็นปลาที่มีลำตัวยาว มีความหนาของลำตัวประมาณ 30% ของความยาว มีจุดสีดำกระจายอยู่ทั่วบริเวณหัว ปากกว้าง คางใหญ่ มุมปากเฉียง ขากรรไกรยาว ส่วนบนและล่างมีฟันที่แหลมคมซี่เล็กๆ มีตากลมโตอยู่เกือบบนส่วนหัว จมูกและรูจมูกจะยื่นออกมาอยู่ที่ริมฝีปากบน ครีบหูและครีบหางมีลักษณะกลมมีลายสีดำสลับขาว มีก้านครีบมากกว่า 12 ก้าน ครีบหลัง 2 ครีบหนาเป็นสันนูนและสั้น ลำตัวมีเกล็ดเป็นหนามแหลม มีแถบสีดำ 4 แถบเป็นแนวขวางกลางลำตัว ส่วนสีของลำตัวปลาบู่นั้นจะเปลี่ยนไปตามถิ่นที่อยู่หรือการเลี้ยงดูครับ

แม้ว่าพวกเราจะมีการเลี้ยงปลาบู่กันมาช้านานแต่เพื่อนๆ เกษตรกรผู้เลี้ยงก็ยังคงพบปัญหาที่ทำให้ไม่ได้รับผลกำไรเท่าที่ควร เนื่องจากว่า ขาดแคลนพ่อแม่พันธุ์ปลาบู่ชั้นดี ทำให้เรามีทางเลือกจำกัด และยังขาดแหล่งความรู้และขาดเครื่องมือหรือเทคโนโลยีต่างๆ ที่จะมาช่วยให้การขยายพันธุ์และการเลี้ยงดูปลาบู่ให้ได้ผลผลิตเต็มที่ รวมทั้งปลาบู่เองเป็นปลาแม่น้ำ จึงจำเป็นต้องมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะแก่การเลี้ยง ซึ่งแม่น้ำสายหลักๆ ที่มีปริมาณน้ำเยอะทั้งปีนั้นมีเพียงไม่กี่สายเท่านั้น

แต่ก่อนนั้นวิธีการเลี้ยงปลาบู่ เราจะใช้วิธีช้อนลูกปลาบู่มาจากแหล่งอาหารที่มีการวางไข่และฟักออกเป็นตัว ซึ่งลูกปลาบู่จะหากินอยู่ในพงหญ้าในหนอง บึง หรือคลองที่มีน้ำตื้น ๆ แต่ทุกวันนี้เราไม่สามารถทำได้เหมือนเดิมแล้วครับ เพราะว่าแหล่งน้ำจืดมีมลภาวะจากสิ่งแวดล้อม ทำให้พันธุ์ปลาบู่มีน้อยมาก เทียบกับตลาดที่ขยายตัวใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในและต่างประเทศ

กรมประมงจึงได้ปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์ปลาบู่เพื่อให้พวกเราได้นำไปขยายพันธุ์ต่อในเชิงการค้า โดยมีวิธีการเพาะพันธุ์ 2 วิธี คือ การฉีดฮอร์โมน และวิธีการเลียนแบบธรรมชาติ จนสถานีประมงน้ำจืดปทุมธานีได้ทำการเพาะพันธุ์ปลาบู่เชิงพาณิชย์ตามวิธีธรรมชาติได้สำเร็จ ทำให้จำนวนรังไข่และลูกอ่อนเกิดขึ้นมากกว่าการฉีดฮอร์โมนเพื่อการผสมเทียม และจำนวนลูกปลารอดมีอัตราที่สูงกว่าด้วยการให้กินอาหารธรรมชาติ จึงได้จำนวนลูกปลาเพียงพอต่อความต้องการของตลาด

ดังนั้นวันนี้เพื่อนๆ เกษตรกรที่มีทำเลใกล้แหล่งน้ำ น่าจะเห็นโอกาสในการทำประมงเพิ่มขึ้นนะครับ เพราะการเพาะเลี้ยงปลาบู่ในยุคนี้ไม่ได้ยากเย็นเหมือนที่ผ่านมาแล้วครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook