สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

การขยายพันธุ์ผึ้งโพรงไทยลูกผสมเพื่อการเลี้ยงผึ้งในพื้นที่แล้ง จังหวัดพะเยา

การเลี้ยงผึ้งเป็นอุตสาหกรรมที่กำลังขยายตัวไปทั่วโลก เพราะมีการพัฒนาวิธีการเลี้ยงผึ้งที่ช่วยให้สามารถสร้างรวงรังหลายชั้น (Multiple comb nest cavity)  สามารถนำมาเลี้ยงและจัดการรังได้ในกล่อง (Hive) ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งสามารถดูแลรังผึ้งและเก็บเกี่ยวผลผลิต เช่น น้ำผึ้ง นมผึ้ง และเกสรผึ้งเพื่อสร้างรายได้ หลายประเทศส่งเสริมและพัฒนาการเลี้ยงผึ้งให้เป็นอาชีพเกษตรกรรมที่สำคัญและเป็นอาชีพทางเลือกเพื่อเพิ่มรายได้แก่เกษตรกร โดยเฉพาะการเลี้ยงผึ้งพันธุ์ (Apis mellifera) (สิริวัฒน์ และ สุรีรัตน์, 2555) การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความรู้พื้นฐานด้านชีววิทยาของผึ้ง ผลิตภัณฑ์จากผึ้ง เครื่องมือ อุปกรณ์ และวิธีการเลี้ยงผึ้งเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง และมีการเลี้ยงผึ้งกันทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยด้วย

แม้ว่าเกษตรกรจะได้รับการส่งเสริมให้เพาะพันธุ์ผึ้งเพื่อสร้างรายได้ในการส่งออกและสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร ยา และเครื่องสำอาง แต่ปัญหาสำคัญที่ส่งผลต่อการขยายพันธุ์ผึ้งในประเทศไทย คือ ความอ่อนแอและการสูญเสียรังผึ้งเนื่องจากผลกระทบของอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นและปัญหาภัยแล้งซึ่งส่งผลกระทบต่อพืชอาหารแหล่งดอกไม้ต่างๆ ที่ผึ้งใช้สร้างผลิตภัณฑ์ต่างๆ ดังนั้นการปรับปรุงพันธุ์ผึ้งให้มีความแข็งแรงต่อไรศัตรูและโรคผึ้งจึงเป็นกุญแจสำคัญของความสำเร็จของอุตสาหกรรมการเลี้ยงผึ้ง  ปัจจุบันมีการคัดเลือกขยายพันธุ์สร้างผึ้งโพรงลูกผสม  และการพัฒนาวิธีการเลี้ยงตามวิถีของท้องถิ่นที่เหมาะสมในแต่ละประเทศ ตัวอย่างในประเทศจีนประสบความสำเร็จในการพัฒนาพันธุ์ผึ้งโพรงลูกผสมของประชากรผึ้งโพรงจีน (A. c. cerana) โดยสามารถเลี้ยงลงคอนในกล่อง จัดการรัง และสร้างผลิตภัณฑ์น้ำผึ้งมีมูลค่าสนับสนุนต่อการส่งออกและภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้เช่นเดียวกับผึ้งพันธุ์

การขยายพันธุ์ผึ้งโพรงไทยลูกผสมเพื่อการเลี้ยงผึ้งในพื้นที่แล้ง จังหวัดพะเยา

จังหวัดพะเยา มีพื้นที่ 3,959,412 ไร่ กำลังเผชิญกับปัญหาภัยแล้งอย่างรุนแรงซึ่งเป็นความท้าทายอย่างมากต่อภาคการเกษตร แม้จะมีการปลูกพืชหลากหลาย เช่น ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง หอมแดง กระเทียม ขิง ยาง ลิ้นจี่ ลำไย และการประมงน้ำจืด ทั้งนี้การพัฒนาพืชและสัตว์ที่ทนแล้งยังมีไม่มากนัก แม้ว่าทางจังหวัดจะมีโครงการบริหารจัดการน้ำต่างๆ เพื่อรับมือกับความม้ามายดังกล่าวหลายโครงการ แต่ความยั่งยืนในระยะยาวของภาคการเกษตรนั้นจำเป็นอย่างยิ่งในการเพิ่มผลผลิตพืชและสัตว์ทนแล้ง ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรและชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น

สวก.จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยในโครงการ “การขยายพันธุ์ผึ้งโพรงไทยลูกผสมเพื่อการเลี้ยงผึ้งในพื้นที่แล้ง จังหวัดพะเยา” โดยคณะผู้วิจัยได้พัฒนาผึ้งโพรงไทย ลูกผสม (Hybrid A. c. indica) ระหว่างผึ้งโพรงไทยกลุ่มประชากรเหนือและกลุ่มประชากรใต้ที่สามารถจัดการลงคอนในกล่องเลี้ยง ขยายจำนวนประชากร มีพฤติกรรมที่เหมาะสมต่อการจัดการการเลี้ยงผึ้ง และให้ผลิตภัณฑ์ผึ้งที่ดี ในพื้นที่ต้นแบบของชุมชนในจังหวัดพะเยา ซึ่งเป็นพื้นหนึ่งที่มีปัญหาภัยแล้งมาโดยตลอด  รวมทั้งศึกษาขั้นตอนการตรวจสอบและประยุกต์ใช้เป็นเครื่องหมายทางสัณฐาน (Morphological marker) และพันธุกรรม (Genetic marker) ของการตรวจสอบประชากรผึ้งโพรงไทยตามธรรมชาติและลูกผสมด้วย เครื่องหมายทางสัณฐานวิทยาจากการประยุกต์ใช้วิธีการวัดสัณฐานเขาคณิต (geometric morphometric)  บนปีกและเครื่องหมายพันธุกรรมของยีนในไมโตรคอนเดรียดีเอ็นเอ ประเมินผลการคัดเลือกผึ้งพันธุ์ไทยลูกผสมที่มีสุขภาพดีและพัฒนาพฤติกรรมที่เหมาะสมในการเลี้ยง การผสมพันธุ์ และการจัดการในกล่องเลี้ยง รวมทั้งการส่งเสริมการเลี้ยงที่เหมาะสมให้กับเกษตรกรในพื้นที่เกษตรอินทรีย์ต้นแบบ รวมทั้งขยายฐานองค์ความรู้ด้านการเลี้ยงผึ้งโพรงไทยสู่ชุมชนอื่น ๆ ทางภาคเหนือ และถ่ายทอดองค์ความรู้ต่อหน่วยงานส่งเสริมทางการเกษตรต่อไป

 

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook