สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

นกยูง: สัญลักษณ์แห่งวัฒนธรรม ความเชื่อ และความงามที่ต้องอนุรักษ์

นกยูง สัตว์ที่มักจะถูกร้อยเรียงพันผูกอยู่ในความเชื่อและวัฒนธรรมของหลายประเทศทั่วโลก ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศอินเดีย มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับศาสนาฮินดูว่า นกยูงเป็นพาหนะของเทพเจ้า ในขณะที่ในพม่าและศรีลังกามีนกยูงเป็นสัญลักษณ์ของ 1 ใน 12 นักษัตร ลัทธิเยซิดี ในแถบตะวันออกกลาง มีความเชื่อว่า นกยูงเป็นสัญลักษณ์แห่งความหลากหลายบนโลกใบนี้ และสีสันแห่งธรรมชาติทั้งมวล รวมทั้งแสงและความสว่างไสวมีขนของนกยูงหลากสีเป็นตัวแทน และถือว่านกยูงเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ห้ามล่าและทำร้าย คนโบราณชาวกรีกยกให้นกยูงเป็นสัญลักษณ์แห่งความยั่งยืนและอมตะ และยังมีเรื่องเล่ามากมายเกี่ยวกับวัฒนธรรมและความเชื่อเกี่ยวกับนกยูง

แม้ว่าคนไทยเราจะเรียกว่านก แต่กลับเป็นสัตว์ปีกที่ถูกจัดว่าเป็นหนึ่งในไก่ฟ้าที่มีลำตัวสูงใหญ่กว่าพวก นกยูงตัวผู้จะมีขนหางที่งดงาม ยาว เมื่อเจอนกยูงตัวเมียก็จะวาดหางอันงดงามอวดเพื่อเกี้ยวพาราสี ที่เรามักจะได้ยินได้ฟังกันมาช้านานว่า นกยูงรำแพน จากข้อมูลในเว็บไซต์ wikipedia.org ระบุว่า เมื่อนกยูงตัวเมียยืนนิ่งๆ หน้าตัวผู้ ส่วนตัวผู้จะแสดงขนเพื่อโชว์ความอลังการของขนสีรุ้ง หากตัวเมียมีการตอบรับก็จะเริ่มทำการผสมพันธุ์กันต่อไป

สัตว์ที่ถูกเรียกว่านกยูงนั้นอยู่ในสกุล Pavo ภายใต้วงศ์ไก่ฟ้า ในแถบเอเชียนั้นจะพบอยู่ 2 ชนิดได้แก่

  • นกยูงอินเดีย (Pavo cristatus) ขนมีสีน้ำเงินเข้มและเขียวแวววาวประกายรุ้ง ตัวผู้มีขนงดงามและยาวกว่าตัวเมียเนื่องจากมี “หางยาว” ซึ่งประกอบด้วยขนคลุมหางที่ยาวมากและมีจุดตาเห็นได้ชัดเมื่อนกยูงรำแพน ตัวเมียมีน้ำหนักน้อยกว่าตัวผู้เล็กน้อยและมีปีกขนาดเล็กกว่า หงอนบนหัวแผ่เป็นลักษณะพัด ขนส่วนคอและอกด้านบนเป็นสีน้ำเงิน ส่วนปีกมีสีขาวสลับกับดำคล้ายรอยบั้ง นกยูงอินเดียกินได้ทั้งผลไม้ เมล็ดพืช แมลง และสัตว์เลื้อยคลานบางชนิด พบการกระจายพันธุ์ในอินเดียและศรีลังกา
  • นกยูงไทย (Pavo muticus) จะมีขนตามลำตัวทั้งหมด ตั้งแต่ส่วนหลังถึงปลายหางเป็นสีเขียวเข้มเหลื่อมสีเงินหรือสีเหลืองทอง ส่วนขนบริเวณปีกมีสีดำหรือน้ำเงินเข้มแกมเขียว เหลื่อมน้ำเงิน หากเป็นตัวเมียจะมีขนบริเวณหางสั้นกว่าตัวผู้ ลำคอมีสีทองแดงเข้ม แม้ว่าจะมีเดือยเหมือนกันทั้งเพศผู้และเพศเมียก็ตาม บริเวณหัวจะมีหงอนตั้งขึ้นเป็นพู่กระจุก สามารถพบได้ในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้  นกยูงไทยสามารถกินได้ทั้งเมล็ดพืช ผลไม้สุก แมลง ตัวหนอน ไส้เดือน งู รวมถึงสัตว์ขนาดเล็ก พบได้ในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นกยูงเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม การสูญเสียที่อยู่อาศัยและการผสมข้ามสายพันธุ์ยังคงเป็นภัยคุกคามสำคัญ หากเราไม่ดูแลรักษาและอนุรักษ์พันธุ์นกยูงไทย อาจไม่มีนกยูงไทยแท้ในป่าธรรมชาติของประเทศไทยอีกเลยในอนาคต

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook