โครงการเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network – UCCN) เริ่มขึ้นในปี 2547 โดยมีเป้าหมายหลักคือส่งเสริมความหลากหลายทางวัฒนธรรม สนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน และพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง โครงการนี้แบ่งออกเป็น 7 สาขา ได้แก่ ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน การออกแบบ ภาพยนตร์ อาหาร วรรณกรรม มีเดียอาร์ต และดนตรี โดยมุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างเมืองทั่วโลก ปัจจุบันมีสมาชิก 180 เมืองใน 72 ประเทศ
สำหรับประเทศไทย มีเมืองที่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ UCCN 5 แห่ง ได้แก่ ภูเก็ต (2558) และเพชรบุรี (2564) ในสาขาวิทยาการอาหาร เชียงใหม่ (2560) และสุโขทัย (2562) ในสาขาหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน และกรุงเทพมหานคร (2562) ในสาขาการออกแบบ โดยจังหวัดเพชรบุรีได้รับการยกย่องให้เป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านวิทยาการอาหาร เนื่องจากความโดดเด่นในฐานะ “เมืองสามรส” ได้แก่ รสเค็มจากเกลือสมุทร รสหวานจากน้ำตาลโตนด และรสเปรี้ยวจากมะนาวคุณภาพเยี่ยม
เพชรบุรีมีศักยภาพสูงในการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอาหาร ด้วยวัตถุดิบคุณภาพเยี่ยมและวัฒนธรรมการปรุงอาหารที่สืบทอดมาหลายรุ่น ทำให้เกิดอาหารเอกลักษณ์มากมาย เช่น แกงคั่วหัวตาล ผัดไทย และขนมหม้อแกง นอกจากนี้ ยังมีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญหลายแห่ง เช่น หาดชะอำและอุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี ซึ่งช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมท้องถิ่น หากสามารถใช้จุดแข็งด้านวิทยาการอาหารเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านอาหารของนักท่องเที่ยวได้ร้อยละ 20 อาจทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 40,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจท้องถิ่นและสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบทั่วถึงให้กับจังหวัดเพชรบุรี
มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีได้ริเริ่มแผนงานวิจัยเพชรบุรีเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร UNESCO โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยศิลปากรและภาคส่วนต่างๆ ในจังหวัด แผนงานนี้ครอบคลุมหลายด้าน ตั้งแต่การพัฒนาเกษตรกรให้ผลิตในระบบเกษตรปลอดภัย การยกระดับอาหารเมืองเพชรสู่มาตรฐานระดับนานาชาติ การสร้างอาหารสร้างสรรค์และเครือข่าย การส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ไปจนถึงการประเมินผลกระทบโครงการ โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวและสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบทั่วถึงให้กับจังหวัดเพชรบุรี
แผนงานนี้ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) เพื่อยกระดับคุณภาพและสร้างรายได้ให้กับภาคเกษตร อาหาร การบริการ และการท่องเที่ยวในจังหวัดเพชรบุรี โดยมุ่งพัฒนาอาหารเมืองเพชรบุรีอย่างครบวงจร ตั้งแต่วัตถุดิบจนถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม โดยใช้นวัตกรรมและการวิจัยเป็นฐาน คาดว่าจะสามารถเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวในจังหวัดไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10
นอกจากนี้ ผลงานวิจัยนี้ยังสามารถถ่ายทอดให้กับผู้ประกอบการอาหารและ Startup เพื่อสร้างรายได้เพิ่มเติม รวมถึงการให้บริการวิชาการแก่นักท่องเที่ยวหรือผู้ที่สนใจเรียนรู้ตำรับอาหารจากงานวิจัย ซึ่งจะช่วยสนับสนุนบทบาทของเพชรบุรีในฐานะ Creative City of Gastronomy ผ่านความร่วมมือของทุกภาคส่วน ยกระดับอุตสาหกรรมอาหารและการท่องเที่ยวของจังหวัดอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ การอนุรักษ์วัฒนธรรมอาหารท้องถิ่น และการพัฒนาที่ยั่งยืน อันจะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนและประเทศชาติในระยะยาว