ความมั่นคงทางอาหารประกอบด้วย 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ ความเพียงพอของอาหาร ความสามารถในการเข้าถึงอาหาร และคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร ซึ่งแตกต่างจากอธิปไตยทางอาหารที่เน้นสิทธิของประชาชนในการจัดการระบบอาหาร การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบอย่างมากต่อความมั่นคงทางอาหาร โดยทำให้การกระจายสินค้าหยุดชะงักและรายได้ของประชากรลดลง ส่งผลให้การเข้าถึงอาหารยากขึ้น สถานการณ์นี้นำไปสู่การปรับเปลี่ยนจากการผลิตเพื่อการค้าไปสู่การผลิตเพื่อบริโภคในครัวเรือนมากขึ้น ซึ่งช่วยแก้ปัญหาความมั่นคงทางอาหารในแง่ของความเพียงพอและการเข้าถึงอาหารได้ในระดับหนึ่ง
ความมั่นคงทางอาหารกำลังเป็นปัญหาสำคัญระดับโลก โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา สาเหตุหลักมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ วิกฤตพลังงาน ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิตจากพืชอาหารเป็นพืชพลังงาน ส่งผลให้ราคาอาหารสูงขึ้นและประชากรยากจนเข้าถึงอาหารได้ยากขึ้น
ประเทศไทย ได้ชื่อว่าเป็น “ครัวของโลก” มีบทบาทสำคัญในการผลิตและส่งออกอาหาร โดยปี 2566 มีมูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร อยู่ที่ 11,880 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 4.2 แสนล้านบาท) และมีการคาดการณ์การส่งออกปี 2567 จะขยายตัวถึง 2.5% หรือมีมูลค่า 291,676 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเนื้อสัตว์เป็นหนึ่งในสิบสินค้าดาวรุ่ง ที่มีมูลค่าคาดการณ์ถึง 169 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีตลาดส่งออกสำคัญได้แก่ ฮ่องกง เมียนมาร์ และ สปป.ลาวการส่งออกอาเซียนและตะวันออกกลาง
อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงสัตว์เพื่อผลิตอาหารกำลังเจอปัญหาเรื่องพื้นที่และทรัพยากรที่มีจำกัด จึงจำเป็นต้องพัฒนาเทคโนโลยีให้ผลิตได้มากขึ้นโดยใช้ทรัพยากรน้อยลง องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) คาดว่าภายในปี 2050 จะต้องเพิ่มการผลิตอาหารขึ้นร้อยละ 70 เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น หากไม่สามารถทำได้ อาจนำไปสู่ความไม่สมดุลระหว่างการผลิตและการบริโภคเนื้อสัตว์ซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนสำคัญของมนุษย์
การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตปศุสัตว์มีความสำคัญอย่างยิ่งเพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ที่เพิ่มขึ้น โดยต้องคำนึงถึงทั้งปริมาณ คุณค่าทางโภชนาการ และความปลอดภัยทางอาหาร อย่างไรก็ตาม การขยายการผลิตปศุสัตว์แบบดั้งเดิมอาจนำมาซึ่งปัญหาหลายประการ เช่น ใช้พื้นที่มาก สิ้นเปลืองทรัพยากร และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) จึงได้สนับสนุนโครงการวิจัย “การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเนื้อสัตว์จากเซลล์ต้นกำเนิดกล้ามเนื้อเพื่อความมั่นคงทางอาหาร” โครงการนี้มุ่งพัฒนาและทดสอบผลิตภัณฑ์ที่คล้ายเนื้อสัตว์ โดยใช้เซลล์ต้นกำเนิดกล้ามเนื้อและโครงร่างเทียม นักวิจัยได้เพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยงเซลล์ และศึกษาความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ ยังพัฒนาระบบเลี้ยงเซลล์อัตโนมัติ และวิเคราะห์ความเสี่ยงต่างๆ เช่น การปนเปื้อนของเชื้อโรค ความเป็นพิษ และคุณภาพของโปรตีน เพื่อให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ปลอดภัยสำหรับการบริโภคและสามารถพัฒนาเป็นสินค้าได้ในอนาคต
โครงการนี้มีศักยภาพในการเป็นต้นแบบการผลิตเนื้อสัตว์ทางเลือก ช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร อีกทั้งการผลิตในห้องปฏิบัติการมีข้อดีหลายประการ เช่น ใช้พื้นที่น้อยกว่า ควบคุมคุณภาพได้ดีกว่า และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีที่ได้จากโครงการวิจัยส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างกว้างขวาง ทั้งในแง่ของทัศนคติการบริโภค ประสิทธิภาพการผลิต การใช้ทรัพยากร ความปลอดภัยทางอาหาร และการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการเฉพาะกลุ่ม นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและปรับปรุงการจัดการห่วงโซ่อุปทานอาหาร นับว่าเป็นก้าวสำคัญในการแก้ปัญหาความมั่นคงทางอาหารในอนาคต