สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ถั่วปากอ้า: จากยุคหินสู่การบริโภคในปัจจุบัน

ถั่วปากอ้า หรือที่รู้จักกันในชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Vicia faba เป็นพืชดอกในตระกูลถั่ว (Fabaceae) ซึ่งมีชื่อเรียกในภาษาอังกฤษหลายชื่อแตกต่างกันไป เช่น สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ จะเรียกว่า broad bean ส่วนในประเทศอื่นๆ จะเรียกว่า fava bean หรือ faba bean คำว่า “ถั่วปากอ้า” จะใช้เรียกสายพันธุ์ที่มีเมล็ดถั่วขนาดใหญ่ซึ่งปลูกเพื่อเป็นอาหารมนุษย์ ส่วน “ถั่วม้า” (horse bean) และ “ถั่วไร่” (field bean) ใช้เรียกสายพันธุ์ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ มีเมล็ดเล็กกว่าและแข็งกว่า ซึ่งใช้เป็นอาหารสัตว์

ถั่วปากอ้าเป็นพืชตระกูลถั่วที่มีความสำคัญในวัฒนธรรมการบริโภคของหลายภูมิภาคทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอาหารยุโรป เอเชียตะวันออก ละตินอเมริกา และแอฟริกาเหนือ สามารถนำเมล็ดด้านในเปลือกมารับประทานได้ทั้งแบบปรุงสุกและแบบดิบ

ต้นถั่วปากอ้า เป็นพืชประเภทล้มลุกที่มีลำต้นตั้งตรง แข็งแรง มีความสูงตั้งแต่ 0.5-1.8 เมตร ลำต้นมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมเมื่อตัดตามขวาง ใบมีความยาว 10-25 เซนติเมตร เป็นใบประกอบแบบขนนก ประกอบด้วยใบย่อย 2-7 ใบ มีสีเขียวอมเทา ใบไม่มียอดเกาะสำหรับพันเกี่ยวเพื่อไต่เลื้อย ดอกมีความยาว 1- 2.5 เซนติเมตร ประกอบด้วยกลีบดอก 5 กลีบ กลีบชั้นนอกสุดมีสีขาว กลีบข้าง มีสีขาวและจุดสีดำตรงกลาง และกลีบคู่ล่างมีสีขาวเช่นกัน ดอกมีกลิ่นหอมแรงจึงดึงดูดให้แมลงมาผสมเกสรได้ดี  อีกทั้งถั่วปากอ้าสามารถตรึงไนโตรเจนในดิน จึงได้รับความนิยมนำมาปลูกเป็นพืชคลุมดินเพื่อป้องกันการถูกชะล้างหน้าดิน ป้องกันดินพังทลาย ถั่วชนิดนี้จัดเป็นถั่วที่ปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศได้ดี ทนหนาว ทนแล้ง แม้ว่าจะชอบดินร่วนซุยและสมบูรณ์ แต่สามารถเจริญเติบโตได้ในดินเหนียวและดินเค็ม

ลักษณะฝักถั่วปากอ้าจะมีฝักกว้างและเหนียว ฝักอ่อนมีสีเขียว แล้วเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลดำเมื่อแก่ ผิวฝักปกคลุมด้วยขนละเอียดหนาแน่น ขนาดฝักของต้นถั่วที่เกิดเองตามธรรมชาติ จะมีความยาว 5-10 ซม. เส้นผ่านศูนย์กลาง 1 ซม. ส่วนพันธุ์ที่ปลูกเพื่อบริโภคจะมีความยาว 15-25 ซม. และหนา 2-3 ซม. แต่ละฝักมี 3-8 เมล็ด เมล็ดมีรูปทรงกลมถึงรูปไข่ สายพันธุ์ที่ปลูกเพื่อบริโภคจะมีรูปร่างแบนกว่าพันธุ์ธรรมชาติ และมีความยาวของเมล็ดถึง 20-25 มม. กว้าง 15 มม. หนา 5-10 มม.

ถั่วปากอ้าเป็นพืชที่มีความสำคัญทั้งในแง่โภชนาการและเกษตรกรรม นอกจากจะเป็นแหล่งโปรตีนที่มีคุณค่าสูงและยังเป็นวัตถุดิบในเมนูอาหารหลากหลายประเภททั่วโลกแล้ว ยังมีบทบาทสำคัญในการปรับปรุงคุณภาพดินด้วยการตรึงไนโตรเจน ซึ่งช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินและป้องกันการชะล้างดิน นอกจากนี้ ความสามารถในการเติบโตในสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย ทำให้ถั่วปากอ้าเป็นพืชที่สามารถปลูกได้ในหลายภูมิภาคทั่วโลก

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook