น้อยโหน่ง ผลไม้พื้นบ้านแต่โบราณ ซึ่งในสมัยก่อนมักจะปลูกตามร่องสวนหรือตามหัวไร่ปลายนาเพื่อกินผลสุก โดยมักจะปลูกคู่กันกับน้อยหน่าคล้ายเป็นผลไม้พี่น้องกัน แต่ผลน้อยหน่าจะได้รับความนิยมมากกว่า เพราะผลน้อยหน่ามีกลิ่นหอมและรสชาติดีกว่าผลน้อยโหน่ง ซึ่งทำให้ช่วงเวลาที่ผ่านมาต้นน้อยโหน่งได้ถูกโค่นตัด เพื่อปลูกพืชชนิดอื่นแทน ทำให้ลดปริมาณลงไปจำนวนมาก จนกลายเป็นพืชที่หาดูได้ยากแล้ว ในปัจจุบัน ถ้าเราไปสุ่มถามคนซัก 100 คน ว่าเคยเห็นผลน้อยโหน่งหรือไม่ เชื่อว่าจะมีไม่ถึง 5 คน ที่เคยเห็น คนที่เหลือนอกนั้นอาจนึกรูปร่างหน้าตาไม่ออกเลยด้วยซ้ำ นอกจากจะไปหาดูจากรูปเอาจากสื่อออนไลน์ หรือยังพอจะหาต้นพันธุ์ได้บ้างตามตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับต่างๆ
ต้นน้อยโหน่ง มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกากลาง เชื่อว่าแพร่เข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่สมัยอยุธยา เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ความสูงของลำต้น 5-8 เมตร เปลือกต้นสีเทา แตกกิ่งกระจายรอบต้น ใบน้อยโหน่ง เป็นใบเดี่ยว ใบประกอบแบบขนนกออกเรียงสลับ ใบยาวเป็นรูปคล้ายใบหอก มีสีเขียวสด ดอกน้อยโหน่ง จะคล้ายๆ กับดอกน้อยหน่า ออกดอกช่อกระจุก 2-4 ดอก มีกลีบเลี้ยงเล็กๆ 3 กลีบ กลีบดอกมี 6 กลีบ เรียง 2 ชั้น มีชั้นละ 3 กลีบ สีเหลืองแกมเขียว ใบและดอกมีกลิ่นฉุนเฉพาะตัว ผลน้อยโหน่งเป็นชนิดผล กลุ่ม รวมกันอยู่เหมือนเป็นผลเดียว รูปทรงคล้ายหัวใจ ขนาดผลจะใหญ่กว่าผลน้อยหน่า เปลือกบางเรียบแต่เหนียว ไม่มีตาโปนที่เปลือกเหมือนน้อยหน่า ผลดิบเปลือกสีเขียว เมื่อสุกจะเป็นสีแดงอมน้ำตาลเข้ม เนื้อผลหนาสีขาว มีเมล็ดสีน้ำตาลเข้มจำนวนมาก เปลือกเมล็ดแข็ง ผลรสหวานน้อย มีกลิ่นฉุนเฉพาะตัวขยายพันธุ์ ด้วยเมล็ด และการตอนกิ่ง ขึ้นได้กับทุกสภาพดิน ชอบความชื้นปานกลาง ชอบแสงแดดเต็มวัน
ต้นน้อยโหน่งมีสรรพคุณสมุนไพรที่เด่นๆ ก็คือเปลือกต้น ช่วยห้ามเลือด และช่วยสมานแผลได้ ราก แก้เหงือกบวม ผลดิบ ใช้กินแก้ท้องร่วง แก้อาการปวดท้องบิด แก้โรคซาง ขับพยาธิ ใบตำประคบแก้ฟกบวมช้ำ ใบต้มเอาน้ำทำเป็นสีย้อมผ้าสีดำและสีน้ำเงินได้ ผลสุกใช้กินเป็นผลไม้สด ส่วนของเมล็ดแข็งนั้นมีพิษใช้กำจัดแมลงศัตรูพืชได้ ซึ่งมีผลการวิจัยว่าสารสกัดจากเมล็ดออกฤทธิ์ในการกำจัดหนอนใยผักได้ นอกจากนี้ เมล็ดยังสามารถนำไปทำน้ำหมักชีวภาพตามภูมิปัญญาชาวบ้านได้ทันที โดยใช้เมล็ดน้อยโหน่ง 5 ขีด บดละเอียดผสมพริกป่น 10 ช้อนชา กระเทียมบด 10 หัว เติมน้ำ20 ลิตร หมักทิ้งไว้ 1 คืน ใช้ฉีดพ่นขับไล่เพลี้ยอ่อน เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล หนอนใยผัก ด้วงเต่า หนอนผีเสื้อกะหล่ำ โดยไม่ต้องแจ้งสารวัตรเกษตร เพราะน้อยโหน่ง ไม่ได้เป็นวัตถุอันตรายที่กฎหมายกำหนด เพื่อนๆ เกษตรกรอาจจะหาต้นน้อยโหน่งมาปลูกติดบ้าน ติดสวนไว้บ้างก็น่าสนใจ เพื่อจะได้นำไปใช้เป็นชีวภัณฑ์ในสวน และเป็นการช่วยอนุรักษ์พันธุ์พืชโบราณเอาไว้ไม่ให้สูญหายไปกาลเวลาด้วยนะครับ