สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

วิธีป้องกันเพลี้ยกระโดดหลังขาวให้หมดไปจากนาข้าว

เพลี้ยกระโดดหลังขาว เป็นแมลงศัตรูพืชที่สามารถพบได้ทั่วไปในนาข้าว เช่นเดียวกับเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล จะพบการระบาดใหญ่ในนาข้าวทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือของบ้านเรา โดยทั่วไปเพลี้ยกระโดดหลังขาวจะมีลำตัวสีเหลืองและมีสีน้ำตาลปนดำ มีสีขาวอยู่บริเวณกลางอกระหว่างปีกทั้งสองปีก ตัวอ่อนของเพลี้ยกระโดดหลังขาวจะมีสีขาวและสีดำอยู่บนท้องแตกต่างจากตัวอ่อนของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลอย่างชัดเจน แต่ตัวอ่อนของเพลี้ยกระโดดหลังขาวจะอาศัยอยู่บริเวณกอข้าวเช่นเดียวกับตัวอ่อนของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล

การแพร่ระบาดของเพลี้ยกระโดดหลังขาวสามารถแพร่ระบาดได้ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นปลูกข้าวลงแปลงนาจนถึงช่วงข้าวออกดอก แล้วจึงอพยพไปอยู่ที่อื่น ในระหว่างที่ข้าวกำลังจะออกดอก เพลี้ยจะคอยดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณกอต้นข้าว เริ่มจากโคนต้นเหนือน้ำไปจนถึงบริเวณลำต้นของข้าว ทำให้ข้าวมีลักษณะแห้งสีเหลืองตรงยอด และสามารถแพร่ขยายไปยังต้นข้าวต้นอื่นเป็นวงกว้างกว่าเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล จนอาจทำให้ต้นข้าวเหี่ยวเฉาและตายในที่สุด ทำให้ผลผลิตของข้าวลดลง

ปัจจัยเสี่ยงในการแพร่ระบาดของเพลี้ยกระโดดหลังขาว มักเกิดจากการปลูกต้นข้าวด้วยการหว่านเมล็ด ซึ่งจะทำให้ต้นข้าวขึ้นชิดติดกัน เพราะไม่ได้เว้นระยะห่างระหว่างต้นแบบนาดำ จนทำให้แสงแดดส่งลงไปใต้ใบไม่ได้ จนมีความชื้นสูง ที่เอื้อต่อการแพร่ระบาดของเพลี้ยได้ ดังนั้นวิธีป้องกันเพลี้ยกระโดดหลังขาวควรเริ่มตั้งแต่การปลูก ซึ่งควรปลูกข้าวแบบนาดำแทนการหว่านเมล็ดข้าว จะทำให้การดูแลข้าวสามารถทำได้ง่าย ทั้งยังลดความชื้นและลดการแพร่ระบาดของเพลี้ยกระโดดหลังขาวได้อีกด้วยครับ

สาเหตุต่อมาเกิดจากการปลูกข้าวโดยการปล่อยน้ำเข้านาข้าวให้น้ำขังอยู่ในนาข้าวตลอดเวลา อาจทำให้มีความชื้นสูง จนเกิดการกระจายและระบาดของเพลี้ยกระโดดหลังขาวได้ ดังนั้นเพื่อนๆ เกษตรกรควรปล่อยน้ำเข้านาข้าวในปริมาณที่ไม่มากนักและปล่อยไว้ให้น้ำแห้งบ้างก่อนที่จะปล่อยน้ำเข้านาข้าวใหม่ เพื่อระบายความชื้นออกไม่ให้เหมาะแก่การอาศัยของเพลี้ยกระโดดหลังข้าว

นอกจากนี้ยังมีการปล่อยตัวห้ำในแปลงนาเพื่อกำจัดเพลี้ยกระโดดหลังขาว ซึ่งเป็นวิธีทางธรรมชาติ ที่ไม่ต้องพึ่งพิงสารเคมี โดยวิธีนี้สามารถกำจัดได้ทั้งตัวเต็มวัย ตัวอ่อน และไข่ของเพลี้ยกระโดดหลังขาวได้ และควรงดใช้ปุ๋ยไนโตรเจนแล้วเปลี่ยนไปใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยอินทรีย์แทน รวมถึงการคัดเลือกพันธุ์ข้าวที่จะนำมาปลูกนั้น ควรเป็นพันธุ์ที่มีการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี ต้านทานแมลงได้ เพื่อลดความเสียหายของผลผลิตลงได้หากเกิดการระบาดของแมลงศัตรูพืชครับ
บทความวิชาการด้านข้าว  
https://tarr.arda.or.th/content

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook