สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

หมากค้อ ผลไม้ป่ารสเปรี้ยว

หมากค้อ เป็นผลไม้ป่ารสเปรี้ยว พบมากในบริเวณจังหวัดภาคอีสานของไทยเรา ในภาคกลางจะเรียกชื่อว่าตะคร้อไข่หรือตะคร้อ เป็นพันธุ์ไม้พื้นบ้าน ผลัดใบ เติบโตเต็มที่อาจจะมีความสูงได้ถึง 25 เมตร มักพบในป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรัง โดยนักวิจัยจากต่างประเทศได้มีการศึกษาถึงประโยชน์ของหมากค้อ พบว่าเปลือกไม้และลำต้นสามารถลดการเกิดอนุมูลอิสระ มีฤทธิ์ต้านการเติบโตของแลคทีเรีย และสารสกัดจากเมล็ดตะคร้อ สามารถนำมารักษาแลจากการไหม้ หรือใช้นวดลดอาการปวดของข้อ ส่วนในบ้านเรานั้นนิยมนำผลมาบริโภคสดและนำมาแปรรูปเป็นน้ำผลไม้และแยมสำหรับทาปาด เป็นต้น ส่วนยอดอ่อนจะนำมาเป็นผักสดเคียงจานอาหารประเภท ลาบหรือยำ ลำต้นที่แก่จัดสามารถตัดฟันมาใช้ประกอบเป็นเครื่องเรือน เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ได้ นอกจากนั้นยังมีเพื่อนๆ เกษตรกรหลายท่านนำไม้ชนิดนี้มาเป็นแหล่งเพาะครั่ง เพราะมีคุณสมบัติที่เหมาะสมในการเจริญเติบโตและการแพร่กระจายพันธุ์ได้ดี

หมากค้อ เป็นไม้ยืนต้นที่เรือนยอดทรงพุ่มหนาทึบ พุ่มกว้าง และแตกกิ่งก้านที่มีลักษณะคดงอ ลำต้นมีเปลือกสีน้ำตาลแดง ผิวขรุขระ แตกเป็นรอยลึกหนา แตกใบสีเขียวหนา ผิวเรียบ ขอบใบเรียบ ผลิดอกเป็นช่อยาวคล้ายช่อดอกมะม่วงหรือหางกระรอก มีความยาวราว 25 เซนติเมตร ประกอบด้วยดอกย่อยสีขาวครีมหลายดอก แต่ดอกไม่มีกลิ่นหอมแต่อย่างใด ผลขนาดเล็กเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 3 เซนติเมตร มีเปลือกหนา สีผิวเขียวปนน้ำตาล ด้านในผลมีเนื้อผลสีเหลืองใสอุ้มน้ำ รสเปรี้ยวจัด กลางผลมีเมล็ด 1-2 เมล็ด

ปัจจุบัน ต้นหมากค้อแม้จะมีปริมาณลดลงตามธรรมชาติ แต่มีเพื่อนๆ เกษตรกรบางกลุ่มที่นำมาขยายพันธุ์เพื่อนำมาใช้เป็นไม้ล้อม จนกลายเป็นไม้เศรษฐกิจที่ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยสังคมเมืองนั้นนิยมหาไม้ใหญ่มาปลูกในพื้นที่มากขึ้น เพื่อให้ได้ใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้น เกิดร่มเงา สร้างความร่มรื่นให้แก่บ้านเรือน โดยไม่ต้องใช้เวลานานนัก เพราะหากจะปลูกและฟูมฟักเองจะต้องใช้เวลานานหลายปี ขณะเดียวกันกระแสเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติและลดภาวะโลกร้อนก็เป็นตัวเร่งให้ประชาชนสนใจในการปลูกไม้ใหญ่มากขึ้นด้วย ด้วยต้นหมากค้อมีลักษณะเด่นที่กิ่งก้านแผ่กว้าง พุ่มแน่น ช่วยกรองอากาศและให้ร่มเงาได้ดี และมีความทนทานในการขุดล้อมจากแหล่งเพาะปลูกไปยังที่ปลูกใหม่ เพาะเป็นต้นไม้ที่เปลือกหนา ทำให้นักออกแบบสวนรวมทั้งเจ้าของบ้าน นิยมนำมาปลูก อีกทั้งเมื่อปลูกแล้วก็ไม่ต้องกังวลเรื่องการผลัดใบหรือการบำรุงดูแลมากนัก ทำให้วันนี้ชื่อเสียงของต้นหมากค้อเปลี่ยนจากไม้ผลในป่ามาเป็นไม้เศรษฐกิจที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรได้

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook